ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สร้างคนรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์แผนไทย พร้อมเผย 16 ตำรับปลอดภัย มีประสิทธิผล ประกาศใช้ตามกฎหมาย เตรียมลุยใช้จริงผ่านวิทยากรครู ก

วันที่ 29 เม.ย. 2562 นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมวิทยากรครู ก หลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย ว่าตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุให้กัญชาและกระท่อม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัยได้ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถยื่นขออนุญาตมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ได้ 

ดังนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงร่วมมือกับสภาการแพทย์แผนไทย จัดทำหลักสูตรและดำเนินการจัดอบรมวิทยากรครู ก. ระหว่างวันที่ 29-30 เม.ย. 2562 จำนวน 150 คน เป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อแก่บุคลากร  ในพื้นที่ของเขตสุขภาพ ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เขตละไม่น้อยกว่า 150 คน โดยกำหนดให้มีการขับเคลื่อนจัดกิจกรรมการอบรมพร้อมกัน ทั่วประเทศ ในวันที่ 27 พ.ค. 2562

สำหรับการขับเคลื่อนในการนำกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยนั้นจะดำเนินการตามรายการยา 16 ตำรับที่ผ่าน การประกาศใช้และมีกัญชาเป็นส่วนผสม ซึ่งมีการคัดกรองความซ้ำซ้อนจาก 200 ตำรับ เหลือ 90 ตำรับ ในจำนวนดังกล่าวมีการจัดแบ่งตามกลุ่มในการพัฒนาเป็นลำดับชั้น แยกเป็น 4 กลุ่ม คือ 

กลุ่ม ก เป็นตำรับยาที่มีประสิทธิผล มีความปลอดภัย วิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวยาหาไม่ยาก และมีสรรพคุณตำรับที่แก้ปัญหาสาธารณสุข ประกาศใช้ตามกฎหมาย มีจำนวน 16 ตำรับ ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาทัพยาธิคุณ ยาแก้ลมขึ้นสูง ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาไพสาลี ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาอไภยสาลี ยาอัมฤตย์โอสถ ยาแก้โรคจิต ยาแก้สันฑฆาต กล่อนแห้ง ยาอัคคินีวคณะ ยาแก้ลมเนาวนารีและ ยาไฟอาวุธ

กลุ่ม ข เป็นตำรับยาที่มีประสิทธิผลแต่วิธีการผลิตไม่ชัดเจน มีตัวยาหายาก ข้อมูลตำรับไม่ครบถ้วน เป็นตำรับยาที่เห็นควร ให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม มีจำนวน 11 ตำรับ 

กลุ่ม ค เป็นตำรับยากลุ่มที่ไม่แน่นอน เขียนในคัมภีร์ เป็นคำกลอน เขียนระบุ โรคต่างๆ ไม่ชัดเจน มีกัญชาเป็นส่วนผสมน้อย กลุ่มนี้ต้องอยู่ในการควบคุม เป็นโครงการวิจัย เป็นตำรับยาที่เห็นควรทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม มีจำนวน 32 ตำรับ 

กลุ่ม ง เป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบ ห้ามใช้ เนื่องจากอาจมีสารพิษผสมอยู่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ห้ามใช้ตัวยาบางตัว เช่น ไคร้เครือ หรือมีสารประกอบของพืชหรือสัตว์ผสมเป็นข้อห้ามตามอนุสัญญา ไซเตส (CITES) และตัวยาบางชนิดกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ กลุ่มนี้ต้องอยู่ในการควบคุม เป็นโครงการวิจัย มีจำนวน 31 ตำรับ ซึ่งการอบรมครู ก ในครั้งนี้ นอกจากมุ่งเน้นให้เข้าใจด้านกฎหมายแล้ว มุ่งกระบวนการปรุงตำรับยาทั้ง 16 ตำรับสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่เจ็บป่วย