ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เพื่อประเมินการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ผ่านมา รวมถึงท่าทีต่อการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 2
โดยภายหลังการประชุมมีการแถลงนำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน โดยระบุว่า จากการอภิปรายของฝ่ายค้านได้พิจารณาถึงความล้มเหลวของรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยในจำนวนรัฐมนตรีหลายคนอยู่ในข่ายที่ทางฝ่ายค้านกำลังพิจารณาส่งเรื่องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช โดยได้ตั้งคณะกรรมการทางฝ่ายกฎหมายขึ้นมา 1 คณะ ซึ่งเป็นนักกฎหมายจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อพิจารณาความผิดของ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละบุคคลว่าจะยื่นความผิดในลักษณะใด ซึ่งแต่ละบุคคลอาจจะต่างกัน แต่ในหลักเกณฑ์จะพิจารณาอยู่ 2 กรณีด้วยกันคือ ความผิดทางอาญา และความผิดทางจริยธรรม
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะดำเนินการต่อไปนั้นก็จะให้พรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรค ไปพิจารณาร่วมกับทางคณะกรรมการ ที่ตั้งขึ้น ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ที่จะมีการพิจารณากันในสัปดาห์นี้ พรรคร่วมฝ่ายการยืนยันที่จะดำเนินการ ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้แปรญัตติไว้ ส่วนแนวทางการลงมตินั้นก็จะมีการปรึกษากันอีกครั้ง
ส่วนเรื่องงูเห่าของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้นวันนี้ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวมองว่า เป็นเอกสิทธิ์ทางการเมืองของ ส.ส. และเป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรคที่จะต้องไปดำเนินการ ส่วนเรื่องของพรรคเพื่อชาตินั้นวันนี้ไม่ได้เข้าร่วมประชุมคงอาจจะติดภารกิจ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการอภิปรายรัฐมนตรีรายบุคคลที่ผ่านมา จะต้องมีกระบวนการทางการเมืองและทางกฎหมายที่จะติดตามรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน โดยจะมีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อติดตาม ยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหล่านี้ก็จะเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่จะดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการเมือง เป็นความสำคัญที่จะกระตุ้นให้สังคม รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้นจะลงพื้นที่ เพื่อนำข้อเท็จจริงไปตีแผ่ให้กับประชาชนในรับทราบในเรื่องที่ได้มีการอภิปราย ส่วนเรื่องส.ส.ที่สวนมติพรรคนั้นตนอยากแก้ไขเรื่องนี้ด้วยวุฒิภาวะ ในการตอบสนองมากกว่าการตอบโต้ ทั้งนี้มีกระบวนการภายในพรรคที่ได้เตรียมไว้อยู่แล้ว และ คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนที่เลือกเข้ามา หรือที่ช่วยหาเสียงนั้นเขาอาจจะผิดหวังมากกว่าตน อย่างไรก็ตามตนในฐานะหัวหน้าพรรค จะโฟกัส อยู่กับประชาชนและ ส.ส. ของพรรคที่ยังเหลืออยู่เพื่อทำงานช่วยเหลือประชาชน
วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่าการอภิปรายครั้งที่ผ่านมา นั้นมองว่าพฤติกรรมของรัฐมนตรี ตามคำอภิปรายนั้นถือว่าชัดเจนแทบทุกคน ซึ่งทางพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาก็จะดูข้อกฎหมายและรายละเอียดว่าจะยื่นตรวจสอบในประเด็นใดบ้าง โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ ซึ่งหากยื่นป.ป.ช.ไปแล้ว เห็นว่ามีมูล ป.ป.ช.ก็ส่งเรื่องให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลรับเรื่องไว้พิจารณา รัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที
ขณะที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าการที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำเรื่องนี้เข้าสู่สภาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ซึ่งศาลได้รับไว้พิจารณาแล้วนั้น
การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เชิญบุคคลต่างๆเข้าชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น มีชัย ฤชุพันธุ์อดีตประธานคณะกรรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งสิ้น แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่เพียงใด ต้องมีความเห็นหลากหลาย จากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เหมือนในอดีต
ดังนั้น วันนี้พรรคฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญโดยจะยื่นในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.)เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ รับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายมหาชนให้กว้างขวางกว่านี้ เพื่อให้การพิจารณาของศาลเป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น
ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าว ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ว่า อยากให้สื่อช่วยกันจับตาดู เนื่องจากมีประเด็นใหญ่ 3 ประเด็นที่จะมีการพิจารณาและมีความสำคัญต่ออนาคตของรัฐธรรมนูญและประเทศ ประกอบด้วยประเด็นของส.ส.ร.ที่ไม่สามารถเข้าไปพิจารณาในบางประเด็นได้เช่นหมวด 1 และหมวด 2 อาจจะนำไปสู่ชนวนของการสร้างความขัดแย้งใหม่
ทั้งนี้ิการกำหนดให้ใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปค่อนข้างยาก และมีโอกาสให้รัฐสภาที่หากเกิดปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถฝ่าวิกฤตได้ นอกจากนี้ กรณีที่ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะต้องมีการลงประชามติให้ประชาชนเห็นชอบ หากตัวร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา ประชาชนไม่เห็นชอบ ก็เท่ากับว่าประชาชนไม่ได้เลือกที่จะอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อาจจะมองว่าส.ส.ร.ควรจะทำร่างรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านั้นได้ ปัญหาคือตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากจะตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เช่นเดียวกัน
ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นไปได้ค่อนข้างยากและอาจทำให้เราต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป สุดท้ายวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคตอาจจะต้อง ใช้วิธีการรัฐประหารเท่านั้น ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะทำให้ประเทศไทยต้องระมัดระวังในการเดินบนเส้นทางนี้ หากสะดุดลงเมื่อไหร่ก็จะนำไปสู่ทางตัน จนสุดท้ายก็ต้องไปใช้บริการทหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :