ไม่พบผลการค้นหา
"อาจารย์บอกเราว่า ถ้าคุณอยากมีเสรีภาพ ไม่ต้องเรียนก็ได้ ไปเป็นศิลปินเลย เราพูดไม่ออก ใจสั่นมาก พูดออกมาได้ยังไง เราเข้ามาเรียนเพื่อเสริมทักษะเพิ่มเติม เราแค่ไม่ชอบการตีกรอบงานศิลปะว่าต้องทำแบบนั้น-แบบนี้เท่านั้น ถ้างั้นแล้วจะเรียนศิลปะไปเพื่ออะไร"

'นิ้น - เพชรนิล สุขจันทร์' นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ 'วอยซ์' ถึงความรู้สึกระหว่างที่อาจารย์ประจำวิชา Painting กำลังตรวจงาน 'แด่การศึกษา ด้วยรัก และอาลัยยิ่ง' ในการสอบปลายภาคของเธอ

จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้เกิดจาก 'แรงกดดัน' โดยเธอยอมรับตรงไปตรงมาว่า รู้สึกเครียดที่จะต้องส่งภาพร่างของงานภายใน 3 วัน ระยะเวลาที่จำกัดมากทำให้รู้สึกว่าอาจจะคิดงานออกมาได้ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เพราะเธออยากให้ศิลปะได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารความคิดของศิลปินสู่สังคมอย่างครบถ้วนกระบวนความ

และเมื่อโจทย์ที่ตั้งไว้อย่างกว้างๆ คือ 'การวาดภาพเชิงสัญลักษณ์' เธอกลับตีโจทย์ออกมาคนละความหมายกับสิ่งที่อาจารย์มุ่งหมายจะได้เห็น


"อาจารย์ให้เราไปย้อนดูผลงานของรุ่นพี่คณะที่ตอนนี้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในวงการศิลปะ แล้วบอกว่าต้องทำงานให้ได้เหมือนเขา เราถึงจะประสบความสำเร็จ
สุดท้ายงานออกมาเป็นพิมพ์เดียวกันหมดเลย ถ้ามหาวิทยาลัยสอนให้เราจบออกมาเพื่อเป็นเหมือนกันทั้งหมด แล้วตัวตนของเราคืออะไร"


ในมุมมองของเธอ ศิลปะคืออะไรก็ได้ จึงรู้สึกแปลกใจที่ในชั้นเรียน อาจารย์เคยยกตัวอย่างงานศิลปะบางงานขึ้นมา แล้วบอกว่างานเหล่านั้นไม่นับว่าเป็นศิลปะ เพราะไม่มีความวิจิตร ไม่มีความสวยงาม ก่อเกิดเป็นคำถามในใจเธอว่า ที่สุดแล้วงานศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลหรือว่ากฎเกณฑ์อะไร ถึงถูกตัดสินว่างานไหนไม่ใช่ศิลปะ


'แด่การศึกษา ด้วยรัก และอาลัยยิ่ง'

ในวินาทีสุดท้าย เธอเลือกที่จะไม่สนใจแล้วว่าผลงานของเธอจะได้เกรดเท่าไหร่ หรือโจทย์ในอุดมคติของอาจารย์จะเป็นแบบไหน เธอบอกว่าหากขังตัวเองต่อไป ก็ไม่มีความสุขในการทำงาน ทำในสิ่งที่อยากทำดีกว่า ถ้าไม่ได้ลองตอนนี้แล้วเมื่อไหร่จะได้ลอง 

nint
  • นิ้น กับผลงานของเธอ

เธอจึงเลือกวาดภาพลงบนด้านหลังของเฟรมผ้าใบแทนที่จะเป็นด้านหน้าตามโจทย์ที่ได้รับ เป็นภาพเหมือนของเธอในเครื่องแบบนิสิต ร่างกายของเธอเป็นสีฟ้า สื่อถึงสภาวะที่ไม่มีความสุข พร้อมนกพิราบสีขาว สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ เกาะอยู่ที่ปลายนิ้วมือเหลือบสีรุ้ง สะท้อนถึงความหวังมากมายบนโลกใบนี้ที่ยังรอคอยการค้นหา

ตัวเธอนั่งอยู่หลังกรอบไม้ที่มีข้อความที่เขียนด้วยปากกาเมจิกสีดำเอาไว้ว่า 'แด่การศึกษา ด้วยรัก และอาลัยยิ่ง' บ่งบอกถึงการโดนตีกรอบให้ผลิตงานศิลปะในแบบที่ระบบการศึกษาไทยคาดหวัง ทั้งๆ ที่เธอเป็นคนที่ชอบการศึกษามาก เพราะเพิ่งย้ายมาซิ่วที่จุฬาฯ จากการเรียนหลักสูตรครูศิลปะของอีกมหาวิทยาลัย เพราะยังไม่ตอบโจทย์เป้าหมายการศึกษาของเธอ มากไปกว่านั้น เธอยังชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ปรัชญา และการเมืองด้วย

"พอพลิกมาดูด้านหน้า เกิดเป็นภาพที่วาดออกมาโดยไม่ตั้งใจ รู้สึกว่ายิ่งภูมิใจกับงานตัวเองขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เวลาอาจารย์สั่งงานมา เราไม่เคยชอบงานตัวเองเลย แต่พอได้ทำในสิ่งที่อยากทำ กลับมีความสุข นี่แหละคือสิ่งที่เราตามหา"

นิ้น บอกว่า ทุกวันนี้ นอกจากการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยแล้ว เธอยังเป็นศิลปินอิสระ ทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารเรื่องการเมืองผ่านหลากหลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด (Painting) ภาพตัดปะ (Collage) หรือทำกราฟิกให้กับองค์กร NGO ต่างๆ

โดยชุดภาพวาด 'ผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112' ที่เธอทำให้กับ 'กลุ่มทะลุฟ้า' ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะ 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' ศิลปินแห่งชาติที่ถูกอำนาจรัฐปลดออก ช่วยโปรโมทด้วย

นอกจากนี้ 'ทวิชาชาติสู่เสรี' หนึ่งในผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ของเธอ ก็เป็นเหตุให้เธอโดนติเตียนจากอาจารย์ว่า ทำไมต้องแสดงตัวชัดเจนว่าเห็นด้วยกับฝั่งประชาธิปไตย "ต้องการเรียกร้องความสนใจ ?"


"อาจารย์บอกกับเราว่า ไม่ควรแสดงออกทางการเมืองมากเกินไป ไม่ควรจะบอกว่าเราอยู่ฝ่ายไหน แต่ควรอยู่เงียบๆ เราเป็นนักศึกษา ถ้าเราออกมาพูดอะไรแบบนี้ มันจะส่งผลเสียกับเรา เราก็รู้สึกว่า ทำไมวะ"


ดังนั้น ต่อคำกล่าวที่ว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้โดยอิสระ นิ้น มองว่า ไม่ใช่เรื่องจริง เมื่อเธอกลับไม่สามารถแสดงตัวว่าเป็นศิลปินของประชาชนได้ การที่เสรีภาพของศิลปะในรั้วมหาวิทยาลัยต้องไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้องแบบที่อาจารย์พูด เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ยังคงตามหาเสรีภาพของศิลปะ

ท้ายที่สุด นิ้น บอกว่า เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเสรีภาพในการทำศิลปะในประเทศนี้อยู่ตรงไหน เธออยากย้ายออกไปจากประเทศนี้ ไปสู่ที่ที่มีเสรีภาพให้ได้พูดมากกว่าตอนนี้.

nint


ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog