'มีน ชุติมา' แฟนสาวนอกวงการของนักแสดงหนุ่มชื่อดัง ต่อ - ธนภพ ลีรัตนขจร โพสต์สตอรี่อินสตาแกรม ระบายความในใจหลังถูกบูลลี่มาตลอด 5 ปี เผยหากลองมาเจอบ้าง ก็จะรู้ว่าเจ็บแค่ไหน พร้อมขอโทษหากทำให้ทุกคนไม่พอใจ หรือคิดว่าเธอไม่คู่ควรกับนักแสดงหนุ่มที่ทุกคนชื่นชอบ หลังจากนั้นเธอก็เปลี่ยนการตั้งค่าอินสตาแกรมเป็นส่วนตัว
โดยเธอได้โพสต์ข้อความลงบนไอจีสตอรี่เป็นภาษาอังกฤษ ใจความว่า
“อยากเห็นข้อความบูลลี่ทั้งหมด ที่ฉันได้รับมาตลอดมั้ยล่ะ? แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะมันทำร้ายฉันมานานกว่า 5 ปีแล้ว และฉันก็ยังแบกรับเอาไว้
ฉันเข้าใจดีและฉันก็ชินกับมันแล้ว อย่างเดียวที่ฉันอยากจะพูดก็คือ... ฉันอาจจะไม่ได้สวย ไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนอย่างที่พวกคุณปรารถนาจะให้ไอดอลของคุณเจอคนที่คู่ควรแบบนั้น
แต่ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด และฉันไม่เคยทำร้ายพวกคุณ ฉันแค่ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาคนหนึ่ง ผู้ซึ่งต้องการจะซัพพอร์ตคนรักของเธอ ในทุกๆโปรเจกต์ที่เขาทำ
8 ปี 8 เดือนที่เราคบกันมา ฉันไม่เคยโพสต์รูปที่ไม่เหมาะสม ไม่เคยโพสต์อะไร ที่จะไปทำร้ายความรู้สึกของพวกคุณ
ฉันขอโทษ ถ้าฉันทำอะไรให้คุณไม่พอใจ ฉันเข้าใจดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้ใครมาเข้าใจความรู้สึกของฉัน แต่ถ้าคุณลองมาเจออย่างฉัน คุณก็จะรู้ว่า...มันเจ็บแค่ไหน”
สำหรับสาเหตุของการตั้งค่าอินสตาแกรมเป็นส่วนตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้เปิดเป็นสาธารณะ กระแสจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมองว่า น่าจะมาจากเธอไม่สามารถทนไหว และรับมือกับแฟนคลับของนักแสดงหนุ่มได้ รวมถึงแฟนคลับบางกลุ่มยังมองว่าเธอไม่เหมาะสมกับนักแสดงหนุ่ม
ก่อนหน้านี้นักแสดงหนุ่ม เปิดเผยมาตลอดว่ามีแฟนสาวนอกวงการ และมักจะให้สัมภาษณ์แบบให้เกียรติฝ่ายหญิงเสมอ รวมถึงยังลงภาพคู่ในอินสตาแกรมอยู่เสมอ ขณะเดียวกันมีคอมเมนต์จากแฟนคลับทั้งสนับสนุน และบางส่วนรู้สึกช็อก เสียใจ ที่นักแสดงหนุ่มมีแฟน
ทั้งนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ทัศนคติของเด็กและเยาวชนไทยต่อพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์” เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ระบุว่าพฤติกรรมไซเบอร์บูลลี่ หรือ Cyberbullying คือ การรังแก การกลั่นแกล้ง ทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือเดือดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตหรือบนสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กและเยาวชนร้อยละ 29.18 ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่าพฤติกรรมบูลลี่ คือ การโพสต์ด่าทอ พูดจาส่อเสียด ให้ร้าย ดูถูก หรือข่มขู่ทำร้าย รองลงมา ร้อยละ 17.04 ระบุว่า เป็นการแอบอ้าง การสวมรอย หรือปลอมแปลงเป็นผู้อื่น ร้อยละ 14.30 ระบุว่า เป็นการหลอกลวง ฉ้อโกง ต้มตุ๋น ร้อยละ 13.67 ระบุว่า เป็นการสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ ร้อยละ 11.39 ระบุว่า เป็นการแบล็กเมล์กัน ร้อยละ 11.06 ระบุว่า เป็นการคุกคามทางเพศแบบออนไลน์ และร้อยละ 3.37 ระบุว่า ไม่เคยพบเห็นพฤติกรรม Cyberbullying
เมื่อสอบถามถึงข้อเสนอะแนะ เด็กและเยาวชนเกี่ยวกับ มาตรการ ระเบียบ ข้อบังคับด้านกฎหมาย เพื่อมิให้เกิด พฤติกรรม Cyberbullying แบบตั้งใจหรือเจตนา พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.94 ระบุว่า ควรมีหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับ Cyberbullying โดยเฉพาะ เช่น การรับเรื่องการฟ้องร้อง การตรวจสอบพยานหลักฐาน การดำเนินคดี การตรวจสอบอื่น ๆ รองลงมา ร้อยละ 37.75 ระบุว่า ควรมีกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ร้อยละ 34.07 ระบุว่า ควรเพิ่มบทลงโทษกับผู้ที่กระทำผิด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 28.52 ระบุว่า ควรมีการยืนยัน และตรวจสอบการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต หรือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เลข IP ประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือชื่อบัญชีผู้ใช้ ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ควรมีจำกัดอายุของการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต หรือ ในสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 1.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรสร้างจิตสำนึกที่ตัวเด็กและเยาวชน ให้ตระหนักถึงผลกระทบของ Cyberbullying และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม โดยสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาบทเรียน และผู้ปกครองควรควบคุมดูแล เอาใจใส่บุตรหลาน ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นปัญหาที่ควบคุมและแก้ไขได้ยาก และร้อยละ 2.05 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ