สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าบริษัทผลิตสมาร์ตโฟนสัญชาติจีนรายใหญ่อย่าง หัวเว่ย, เสี่ยวหมี่, ออปโป้ และ วีโว่ กำลังร่วมมือกันสร้างแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่อยู่นอกประเทศจีนให้มีพื้นที่อัปโหลดแอปฯ ลงในแพลตฟอร์มของแต่ละบริษัทพร้อมๆ กัน
โดยนักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ความพยายามดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อท้าทายและช่วงชิงส่วนแบ่งจากเจ้าตลาดอย่าง 'กูเกิล เพลย์ สโตร์'
ขณะที่ ทั้ง 4 บริษัทอยู่ภายใต้ความร่วมมือที่เรียกว่า 'พันธมิตรบริการนักพัฒนาแอปพลิเคชันทั่วโลก' (Global Developer Service Alliance : GDSA) ซึ่งมีความพยายามกำจัดข้อบกพร่องที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่มีเป้าหมายช่วยให้นักพัฒนาแอปฯ จากวงการต่างๆ ทำงานได้ง่ายขึ้นในการทำการตลาดแอปฯ ของตัวเองในตลาดต่างประเทศ
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า GDSA มีแผนเปิดตัวในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ แต่เนื่องจากเผชิญหน้ากับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจึงทำให้ยังเกิดความไม่แน่นอนอยู่
อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ต้นแบบระบุว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 9 ภูมิภาค ซึ่งรวมถึง อินเดีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย ด้วย
ทั้งนี้ โฆษกของเสี่ยวหมี่ออกมาชี้แจงว่า หัวเว่ยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแพลตฟอร์มในครั้งนี้ และ GDSA ทำหน้าที่อนุญาตให้นักพัฒนาสามารถอัปโหลดแอปพลิเคชันไปยังแอปสโตร์ของเสี่ยวหมี่ ออปโป้ และวีโว่ ได้พร้อมกัน และบริษัทไม่ได้มีความสนใจในการแข่งขันกับกูเกิล
ที่ผ่านมาบริการจากกูเกิลถูกแบนในประเทศจีน แต่ก็ยังสามารถทำรายได้จากเพลย์ สโตร์ ในปี 2562 สูงถึง 8,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 275,000 ล้านบาท โดย 'เคที วิลเลียม' นักวิเคราะห์จากเซนเซอร์ ทาวเวอร์ ชี้ว่า ที่ผ่านมา กูเกิลมีรายได้จากการขายเนื้อหาเช่น ภาพยนตร์ หรือหนังสือ แล้วมาเก็บค่านายหน้าถึงอีกร้อยละ 30
'นิโคล เผ็ง' รองประธานบริหารฝ่ายการเคลื่อนย้าย บริษัทคานาลิส ชี้ว่า หากทั้ง 4 บริษัท ร่วมมือกันจริง ก็จะเป็นการกระจายกันไปแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยมีเสี่ยวหมี่ดึงตลาดอินเดีย วีโว่และออปโป้ดึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีหัวเว่ยเข้าไปดึงตลาดยุโรป
แม้ว่าตอนนี้ 3 จาก 4 บริษัทจะยังสามารถใช้งานกูเกิล เพลย์ สโตร์ ได้ปกติ แต่หัวเว่ยได้สูญเสียการเข้าถึงบริการดังกล่าวในสินค้าใหม่ของบริษัทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: