วันที่ 23 ก.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยหลังที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า ที่ประชุมมีมติยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวหมดอายุวันที่ 30 ก.ย. 2565 และกลไกต่อไปเป็นคณะกรรมการโรติดต่อแห่งชาติ ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นคนดูแล เป็นผลทำให้ศบค. และศูนย์ที่ดูแลในเรื่องสาธารณสุขทั้ง 9 ศูนย์ก็ยุบไปด่วย โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยจะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตามกระทรวงสาธารณสุขแทน
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และสาธารณสุขประกาศให้เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะฉะนั้นกฎหมายปกติใช้ได้แล้ว ก็จะต้องดำเนินการตามแผนตามขั้นตอนที่วางไว้ อีกทั้งยังมีร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อที่มีการปรับปรุงจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะนำกลับมาใช้อีกหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยอะไรที่เป็นวิกฤติทีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่าต้องใช้กฎหมายพิเศษสามารถทำได้เลย แต่ในเรื่องโควิด-19 จะใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อ เพราะฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถใช้อำนาจตัวเองในการประกาศให้เป็นโรคระบาด และใช้กฎหมายที่ตัวเองมีจัดการได้เลย โดยจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมครม. อีกครั้งในวันอังคารหน้า
เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวของการอ่านคำวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่มีความเคลื่อนไหวจากศาล เป็นการรายงานข่าวความมั่นคงตามประจำวัน แม้จะมีหลายกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหว จริงๆ ต่างคนต่างมอง คนที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อก็มี ถ้าเราดูด้วยใจเป็นกลาง ในฐานะที่ตนเป็นเลขาฯ สมช. สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนามากที่สุดคือ ช่วงเวลาการมีเสถียรภาพของรัฐบาล และความตั้งใจมุ่งมั่นทำงานของนายกฯ อยากให้ดูข้อดีๆ ที่ประเทศไทยเดินหน้าในทุกมิติ และในหน่วยความมั่นคงที่รับผิดชอบ มีความเตรียมพร้อมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามปกติ