14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก หากยึดวัฒนธรรมโลกตะวันตก จะถือเป็นวันที่ผู้ชายต้องซื้อดอกไม้ และช็อกโกแลต เพื่อชวนสาวที่แอบปิ๊งไปดินเนอร์ยามค่ำคืน แต่ในประเทศญี่ปุ่นธรรมเนียมกลับตาลปัตร เมื่อมันกลายเป็นเรื่องของผู้หญิงที่เธอต้องซื้อ ‘กิริช็อกโกแลต’ ช็อกโกแลตตามมารยาทให้เพื่อนร่วมงาน และซื้อแบบพิเศษ ‘ฮงเมอิช็อกโกแล็ต’ ให้กับคนที่เธอแอบตกหลุมรัก เพื่อบอกความรู้สึก
อย่างไรก็ตาม ปีนี้เทรนด์เปลี่ยนไป เมื่อมีแบบสำรวจชิ้นหนึ่งจากห้างสรรพสินค้ามัตสึยะ กินซา ระบุว่า ในปีนี้ ผู้หญิงจะซื้อช็อกโกแลตให้ตัวเองมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง 35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะมอบช็อกโกแล็ตให้เพื่อนร่วมงานตามมารยาท และธรรมเนียมที่มีมานาน
ย้อนกลับไปในปี 1958 ถือเป็นปีแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับวันแห่งความรัก โดยบริษัทผลิตขนมแมรีช็อกโกแลตโฆษณาให้สาวๆ เริ่มเป็นฝ่ายมอบช็อกโกแล็ตให้ผู้ชาย และมันเริ่มเป็นธรรมเนียมปฏิบัตินับแต่นั้นมา
ทว่าต่อมาบรรดาบริษัทผลิตช็อกโกแลตพยายามจะสร้างความสมดุลให้กับยอดขายช็อกโกแลตในตลาด ดังนั้น จึงมีการกำเนิดวันไวท์เดย์ 14 มีนาคมขึ้นมา ซึ่งเป็นวันที่ผู้ชายจะให้ช็อกโกแล็ตคืนสาวๆ
อย่างไรก็ตาม เจฟฟ์ คิงสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษาจากมหาวิทยาลัยเท็มเพิล กรุงโตเกียว ระบุว่า วัฒนธรรมวาเลนไทน์ในญี่ปุ่นที่ต้องให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายมอบก่อน ถือเป็นสัญลักษณ์ของระบบสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ที่เข้มแข็งในสังคมญี่ปุ่น เพราะในท้ายที่สุด มักจะลงเอยด้วยว่า ผู้หญิงได้ช็อกโกแลตกลับคืนน้อยกว่าเสมอ
คำครหาดังกล่าวทำให้หลายบริษัทญี่ปุ่นได้ออกมาแบนวัฒนธรรมการมอบช็อกโกแลตตามมารยาทในบริษัท เนื่องจากมองว่าสร้างการเปรียบเทียบในองค์กรมากเกินไป ทั้งในเรื่องของราคาสินค้าที่มอบให้กัน รวมไปถึงการเปรียบเทียบว่าใครได้ หรือไม่ได้ช็อกโกแลต ซึ่งมันตอกย้ำให้ผู้ชายที่ไม่มีคนรัก หรือผู้ชายที่ไม่เป็นที่นิยมในที่ทำงาน รู้สึกผิดกับตนเองมากยิ่งขึ้น
ความน่าเบื่อของธรรมเนียมนี้ ทำให้สาวๆ ญี่ปุ่น เริ่มสนใจการซื้อช็อกโกแล็ตตามมารยาทน้อยลง ขณะเดียวกันเทรนด์การมอบ ‘โทโมะช็อกโกแล็ต’ ช็อกโกแลตที่มอบให้สำหรับมิตรภาพโดยไม่เกี่ยงเพศก็ได้รับความนิยมมากขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดวาเลนไทน์ของญี่ปุ่นถือว่ามีเงินสะพัดสูงมาก จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยนานาชาตินาโกย่า ระบุว่า ยอดขายช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์วันเดียว คิดเป็นหนึ่งส่วนสี่ของยอดขายช็อกโกแลตทั้งปี ขณะที่ยอดขายช็อกโกแลตปี 2017 เป็นมูลค่ามากถึง 5,390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้มีกระแสตีกลับจากอีกด้านของสังคมด้วยว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตหาใช้ประโยชน์จากวันสำคัญในการหาเงินมากเกินไป
ที่มา : Why Japanese women rebel against Valentine's day, but still buy chocolate