วันนี้ (1 ตุลาคม 2567) เวลา 18.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย (กอปภ.จ.ชร.) ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เกิดเหตุสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้
1.อำเภอเมืองเชียงราย
1) ตำบลนางแล น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ หมู่ที่ 1 - 17 (ทุกหมู่บ้าน) เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน มีเหตุดินสไลด์ ต้นไม้ล้มขวาง บ้านลิไข่ (หมู่ที่ 7 บ้านนางแลใน และน้ำท่วมถนนบริเวณหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย ฝั่งขาออกเมือง ไม่สามารถสัญจรได้ 1 ช่องทางจราจร ซึ่งน้ำกำลังไหลข้ามเลนส์ไปยังอีกฝั่งขาเข้าเมือง
2) ตำบลท่าสุด หมู่ที่ 1,2,10,11 ถนนทางหลวงหมายเลข 1 น้ำท่วมขังบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สูงประมาณ 25 เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
3) ตำบลบ้านคู่ หมู่ที่ 9 น้ำท่วมขังถนนหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีน้ำท่วมสูง จึงขอปิดการจราจรชั่วคราว ขอรถใช้เส้นทาง แยกบ้านเด่น ไปทางถนนบายพาสตะวันออกเพียงอย่างเดียว
4) ตำบลแม่ยาว หมู่ที่ 3 บริเวณถนนทางเข้าวัดห้วยปลากังมีน้ำท่วมน้ำท่วมขัง
2.อำเภอแม่ลาว
1) ตำบลโป้งแพร่ หมู่ที่ 1,2,5,6 โดยน้ำป่าจากลำห้วยส้านได้ไหลเข้าท่วมถนนดงมะดะ-เด่นห้า บริเวณ หมู่ที่ 6 ตำบลโป่งแพร่ รถจักรยานยนต์ไม่สามารถผ่านได้ รถยนต์สามารถผ่านได้โดยให้ใช้ความระมัดระวัง
โฆษก ศปช. ส่วนหน้ากล่าวเพิ่มเติมว่า ระดับน้ำในแม่น้ำสาย เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย มีน้ำไหลบ่ามาจากเทือกเขาด้านทศตะวันตกของเส้นทางหมายเลข 1(อ.เมืองเชียงราย - อ.แม่สาย) บริเวณ ม.แม่ฟ้าหลวง ส่งผลให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัดมาก สามารถเดินรถได้ 1ช่องทางจราจร และมวลน้ำได้ไหลลงไปทาง อ.เมืองเชียงราย ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำไหลหลาก
“ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์เข้าสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือประชาชนบริเวณพื้นที่ชุมชนมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เรียบร้อยแล้ว” โฆษก ศปช. กล่าว