วันที่ 22 ส.ค. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำโดย นรเศรษฐ์ นาหนองตูม พร้อมผู้นำนักศึกษาจาก 7 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ณพกิตติ์ มะโนชัย นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
ทั้งหมดร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องแพ่งต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกเลิกข้อกำหนดออกความตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ข้อ 5 และ วรรคท้าย
โดย นรเศรษฐ์ กล่าวว่า เนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับมีการระบุว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉินให้นำพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาบังคับใช้โดยอนุโลม เปรียบเสมือนการ “ลักไก่เพิ่มโทษ” ให้การชุมนุมสาธารณะมีโทษที่หนักขึ้น เดิมทีตามพ.ร.บชุมนุมฯ ถ้าชุมนุมสาธารณะและมีการแจ้งชุมนุมโดยไม่ชอบ โทษปรับจะไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าตามข้อกำหนดของประกาศฉบับนี้ จะถูกอัตราโทษจำคุก 2 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นการออกกฎหมายลำดับรองไปเพิ่มโทษให้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ กลไกการร้องขอให้เลิกการชุมนุมตามพ.ร.บชุมนุมสาธารณะ ต้องกระทำผ่านศาลเท่านั้น คือต้องมาร้องต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด แต่ประกาศและข้อกำหนดฉบับนี้บอกว่าให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถออกแบบแผนต่างๆได้ในการสั่งให้เลิกการชุมนุมได้โดยไม่ต้องผ่านกลไกของศาล จึงเป็นเหตุที่มายื่นฟ้องวันนี้
พร้อมกันนี้จะขอให้ศาลทำการไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวสั่งไม่ให้บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ด้วย เพราะวันที่ 23 และ 24 สิงหาคมนี้ จะมีการชุมนุมสาธารณะติดตามกรณีที่ ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการปล่อยให้ใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง จึงไม่ทราบว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่มีการออกประกาศในลักษณะนี้ในช่วงเวลานี้
ด้าน เจนิสษา ในฐานะโจทก์และผู้นำนักศึกษา มองว่า ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวแสดงถึงความไม่เป็นธรรมต่อพวกตนและประชาชน เพราะนอกจากจะเป็นการลักไก่เพิ่มโทษแล้ว การอ้างว่าบังคับใช้เป็นไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้น ขอตั้งคำถามกลับไปว่า ต้องการควบคุมโรคหรือควบคุมสิทธิของประชาชนกันแน่