ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยัน “ประชารัฐสร้างไทย” ไม่ใช่แค่โครงการให้เงินทุน ชี้หากมองทั้งโครงสร้างจะเห็นแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น-ยาว

หลังจากที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า การดำเนินโครงการ "ประชารัฐสร้างไทย" ของรัฐบาลที่เน้นการให้สินเชื่อในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิต ยังไม่ใช่คำตอบ เนื่องจากปัญหาของไทยไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบการอยากลงทุนแต่ไม่มีทุน แต่อยู่ที่พวกเขาไม่อยากผลิตเพราะผลิตไปก็ไม่มีคนซื้อ จึงไม่ได้ต้องการลงทุนเพิ่ม เพราะกำลังซื้อของประเทศอ่อนแรงอย่างมาก ดังนั้นในระยะสั้นควรแก้ปัญหาด้านอุปสงค์ที่ไม่มีก่อนให้เงินทุน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า ถ้าเห็นภาพโครงการทั้งหมดจะรู้เลยว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะมีการวางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน โดยใช้กลไก 3 สร้าง คือ เพิ่มความรู้และสร้างอาชีพให้กับประชาชน หลังจากนั้นหาตลาด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้ ท้ายสุดคือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เมื่อทำ 3 สร้างเสร็จจะทำให้ฐานรากมีความเข้มแข็ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นมาตรการระยะยาว

ส่วนแนวทางระยะสั้น ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ก็จะทำให้การช่วยเหลือลูกค้าไม่ใช่ให้แต่เงินทุนอย่างเดียว แต่ให้ความรู้ด้วย เช่น ล่าสุดธนาคารออมสินจัดสัมมนาให้ความรู้ธุรกิจดิจิตอล ซึ่งเป็นส่วนในการวางรากฐาน หลังจากนั้นเงินทุนจึงจะตามมา 

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยันว่า การสร้างอุปสงค์ให้เกิดขึ้นในประเทศ รัฐบาลพยายามทำอยู่ เช่น มาตรการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแนวทางให้บุคคลชั้นกลางที่มีรายได้ให้ออกมาใช้จ่าย ช่วยผู้ประกอบการสามารถให้ขายของได้ ซึ่งหากมองเป็นโครงสร้างจะเห็นว่าเป็นการสร้างพื้นฐานระยะสั้น และระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสิน ได้เตรียมสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ภายใต้สินเชื่อประชารัฐสร้างไทย วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้ภายในสิ้นปีนี้ประมาณ 25,000 ล้านบาท และในปี 2563 อีก 25,000 ล้านบาท ซึ่งสินเชื่อมี 3 ประเภท ประกอบด้วย

  • สินเชื่อเพื่อการเสริมสภาพคล่อง เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ภาคธุรกิจวงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท
  • สินเชื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท
  • สินเชื่อเพื่อสนับสนุนการทำบัญชีเดียวที่ให้วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท

โดยเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น 

โดยโครงการนี้จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ผ่อนปรน เพื่อให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพกู้ผ่านโครงการนี้ได้มากขึ้น โดยจะมีการผ่อนปรนการพิจารณา รวมถึงเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันของเอสเอ็มอีที่มีปัญหา จะร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ในการค้ำประกันโดยฟรีค่าธรรมทเนียม 4 ปี และคิดดอกเบี้ยเงินกู้เพียงร้อยละ 4 ใน 2 ปีแรก ซึ่งถือว่าต่ำมากในระบบขณะนี้ เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุนเพิ่ม

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาธนาคารออมสินมีผู้ค้าที่เป็นเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพประมาณ 50,000 ราย คิดเป็นวงเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท 

ส่วนการปล่อยสินเชื่อรวมสามารถปล่อยสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่ 2.1 ล้านล้านบาท ทำให้ปีนี้จะทำให้มีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านล้านบาท 

ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้จะสามารถดูแลและปรับโครงสร้างลูกหนี้รายเดิมและการขยายพอร์ตสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 2.9 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ขณะที่หนี้เสียของกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 5 โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายเดิม ที่ค้างชำระมาหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อว่าจะลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :