แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขนมเค้ก คุกกี้ นับเป็นของขวัญที่ผู้คนนิยมมอบให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ และด้วยรสชาติที่อร่อยถูกใจอาจทำให้หลายๆ คนเพลิดเพลินกับการกินขนมหวานเหล่านี้ ซึ่งที่จริงแล้วการกินขนมเค้ก คุกกี้ ตลอดจนช็อกโกแลตและขนมหวานอื่นๆ นั้นจะต้องระมัดระวังและกินแต่พอดี เพราะหากกินในปริมาณที่มากเกินไปติดต่อกันเป็นประจำโดยไม่มีการควบคุม จะทำร่างกายได้รับ น้ำตาล แป้งและไขมันมากเกินไปส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ อ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
ขนมเค้กจะมีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ เนื้อเค้กกับหน้าเค้ก ซึ่งเนื้อเค้กจะมีส่วนผสมทั้งไข่ เนย แป้ง และน้ำตาล มักเสียง่ายหากเก็บไว้ในที่ร้อนหรือเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม สำหรับหน้าเค้กส่วนใหญ่จะทำด้วยไขมันและน้ำตาล ถึงแม้ว่าจะเสียยากกว่าตัวเนื้อเค้กแต่หากเก็บไว้นานอาจเหม็นหืนและขึ้นราขึ้นได้ จึงควรแบ่งปันแจกจ่าย กินให้หมดทันทีหรือกินตามวันหมดอายุที่ได้ระบุไว้ ที่สำคัญควรกินชิ้นเล็กๆ ควบคุมปริมาณการกิน ระมัดระวังไม่กินมากเกินไปและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของน้ำตาล ไขมันและลดปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุง
ทางด้าน แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า ขนมเค้ก คุกกี้หากกินในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย เพราะขนมเค้ก 1 ชิ้นเล็ก ที่มีขนาด 35 กรัม ให้พลังงาน 140 กิโลแคลอรี ในขณะที่คุกกี้ 1 ชิ้น ที่มีขนาด 10 กรัม ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี
หากกินเค้กติดต่อกันในปริมาณ 1 ปอนด์ต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานถึง 1,800 กิโลแคลอรี เกือบเท่ากับที่ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารอื่นๆ วันละ 1,600- 2,000 กิโลแคลอรี แต่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน แถมยังได้รับแต่น้ำตาลและไขมันเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงควรควบคุมปริมาณเพื่อสุขภาพที่ดี