ไม่พบผลการค้นหา
ครม. เคาะมาตรการชุดแรกเยียวยาผลกระทบโควิด-19 เน้นมาตรการทางการเงินและมาตรการทางด้านภาษี มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ประกันสังคม 30,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าทุกบ้าน ด้าน สศค. เผยรวมทั้งชุดมาตรการมีเงินหมุนเวียนกว่า 400,000 ล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้(10มี.ค.63) ว่าที่ประชุมได้มีการอนุมัติ “มาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ มาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี โดยมาตรการด้านการเงิน จะมี 4 มาตรการ ประกอบด้วย


022-2563 (info) มาตรการโควิด ชุดที่ 1 (2)_Page_3.jpg

1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท

2. พักต้นเงิน ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

3. ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติ เพิ่มความยืดหยุ่นในการอนุมัติเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้

4. สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจะร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังคงสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน


022-2563 (info) มาตรการโควิด ชุดที่ 1 (2)_Page_4.jpg

มาตรการภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการ 1. ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 1.5 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 และลดเหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)

2. ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และมีการจัดทำบัญชีเดียว สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

3. มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างของเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยต้องคงการจ้างงานในช่วงดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562

4. มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ทางอินเทอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน และกรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาจะได้รับคืนภายใน 45 วัน


022-2563 (info) มาตรการโควิด ชุดที่ 1 (2)_Page_5.jpg

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาภาระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานจะกลับไปพิจารณาความเหมาสมอีกครั้ง และให้ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง และลูกจ้าง ในช่วง 3 – 6 เดือน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม

และมีมาตรการการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ลดและชะลอการจัดเก็บค่าเช่า รวมถึงค่าตอบแทนต่างๆให้กับผู้ประกอบการที่อยู่กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่นในพื้นที่ราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์จะกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม และในส่วนของมาตรการด้านตลาดทุน สำหรับผู้ที่ซื้อกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ในช่วง 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563 สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเป็น 400,000 บาท จากเดิมที่ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมได้ 200,000 บาท

ทั้งนี้ ครม.ยังได้อนุมัติหลักการพิจารณากำหนดวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การถูกเลิกจ้าง สถานประกอบการที่ไก้รับผลกระทบ และเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร รวมถึงเห็นชอบยกเว้นอากรขาเข้าในการนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับหน้ากากอนามัยเป็นเวลา 6 เดือนด้วย


อุตตม กระทรวงการคลัง +ประวิ.jpg
  • อุตตม สาวนายน รมว.คลัง

รมว.คลัง ย้ำว่า มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1 หรือระยะสั้นถึงเดือน มิ.ย. 2563 เท่านั้น แต่หากสถานการณ์รุนแรงและยืดเยื้อขึ้น รัฐบาลก็พร้อมที่จะออกมาตรการในชุดที่ 2 และ 3 ต่อไป โดยจะยังคงเน้นที่มาตรการทางการเงินและมาตรการทางด้านภาษี ส่วนจะมีการพิจารณาการแจกเงินคนละ 2,000 บาท ตามมติครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 หรือไม่นั้น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ย้ำว่า “มาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1” เป็นเพียงมาตรการที่เยียวยาผลกระทบจากของไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เบื้องต้นประเมินว่าในส่วนของชุดมาตรการที่ 1 จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการหลายล้านคน ส่วนในปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่เท่าใดขอให้รอรายงานประเมินเศรษฐกิจอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง