ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผสานกับเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทยที่ง่อนแง่น เปิดแผลลึกโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ จนเกิดคำถามว่า 4 ปีกว่าๆ ของกุนซือเศรษฐกิจ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' นำพาเศรษฐกิจไทย มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และอนาคตหลังโควิด-19 จะไปทางไหน

แม้จะได้ออกตัวชัดเจนตั้งแต่รัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ชุดหลังเลือกตั้งฟอร์มตัวเป็นรูปเป็นร่างว่า ไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว แต่ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ก็ไม่อาจปฏิเสธภาพของการเป็นกุนซือเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ไปได้ ด้วยภาพการเป็นรองนายกรัฐมนตรีกุมบังเหียนงานด้านเศรษฐกิจในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือนและยังได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวงต่อในรัฐบาลนี้

อะไรที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ใจ 'สมคิด' อดีตขุนพลเศรษฐกิจในยุค 'รัฐบาลทักษิณ' กระทั่งดึงเข้ามาแทนที่ 'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล' รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในเวลานั้นได้ น่าจะพอหาคำตอบได้บ้างจากผลงานของเขาในช่วง 5 ปีเศษที่ผ่านมา

แม้หลายนโยบายของ 'สมคิด' จะถูกตั้งข้อกังขาในประเด็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุน หรือบางโครงการยังรอพิสูจน์ผลสัมฤทธิ์ แต่ก็มีไม่น้อยที่ถูกผลักดันออกมาเป็นรูปธรรม แบบที่พล.อ.ประยุทธ์สามารถวางใจงานด้านเศรษฐกิจไปโฟกัสเรื่องอื่นได้  

'สมคิด' เข้ามานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล คสช.เมื่อ 2 ส.ค.2558 ต่อจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ด้วยโจทย์ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งการชะลอตัวยังคงต่อเนื่องจากความบอบช้ำจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การส่งออกที่ทรุดตัวตามสถานการณ์โลก ขณะที่รัฐบาล คสช.ในระยะแรกก็ยังไม่ได้มีมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมาอย่างชัดเจนนัก เมื่อเข้ามาแล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจึงถูกส่งออกมาเป็นระลอก เฉพาะไตรมาสสุดท้ายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 รวม 7 มาตรการ ทั้งส่วนที่เป็นงบประมาณและสินเชื่อธนาคารเฉพาะกิจรวมกว่า 4 แสนล้านบาท ค่อยๆ ดันเศรษกิจให้มายืนเหนือร้อยละ 3 ได้ในปี 2559 จากร้อยละ 2.8 และร้อยละ 0.8 ในปี 2558 และ 2557 ตามลำดับ

สำหรับนโยบายที่เป็นเรื่องระยะยาว สมคิดได้แสดงแนวคิดของเขาผ่านหน้าสื่อมวลชนและเวทีสัมมนาหลายเวที เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาล คสช.จะทำและ พล.อ.ประยุทธ์ก็ "ซื้อ" เพราะหลายนโยบายได้รับการสานต่อ เริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากประเทศตกอยู่ในภาวะติดกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน เป็นจุดเริ่มต้นของนโยบาย "ประเทศไทย 4.0"

ท่าเรือแหลมฉบัง

ประเทศไทย 4.0 อภิมหาโปรเจกต์ 'รีแพ็กเกจ'

ประเทศไทย 4.0 คือจุดเริ่มต้นของอภิมหาโปรเจกต์หลายโครงการในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการ 'รีแพ็กเกจ' อีสเทิร์นซีบอร์ดที่เคยริเริ่มในสมัย พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ ไปสู่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ด้วยความคาดหวังจะให้อีอีซีเป็นเรือธงนำพาประเทศไทยไปสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล ครั้งที่ 2 ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ ตามรอยอีสเทิร์นซีบอร์ดที่นำพาประเทศไทยโชติช่วงครั้งแรกมาเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

หลายโครงการที่ถูกวางให้เป็นกระดูกสันหลังของอีอีซี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา ได้ผ่านขั้นตอนสำคัญคือการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผู้ชนะการประมูลเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ (พีพีพี) เป็นที่เรียบร้อย หลังจากนี้เหลือเพียงเดินหน้าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่าลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งได้กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ พันธมิตร เข้ามาร่วมทุนกับรัฐ, โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด 1.01 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มของ ปตท. เข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับรัฐ 

ส่วนที่ได้ผู้ชนะแล้ว เหลือการจัดทำรายละเอียดสัญญา เสนอให้คณะกรรมการอีอีซีและ ครม.อนุมัติคือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนโครงการ 2.9 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่ชนะประมูลเพื่อร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการนี้คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งประกอบด้วยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 

แต่ก็มีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ที่ไม่มีความคืบหน้า อย่างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ซึ่งอยู่ในการดูแลของการบินไทยร่วมกับกองทัพเรือ และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

แขนกล-โรงงานพัฒนาการเกษตรขอนแก่น-โรงงาน

มีเพียงตัวเลข แต่ยังไม่เห็นผลของเม็ดเงิน 

การตั้งเป้าหมายให้อีอีซีเป็นพื้นที่รับการลงทุนอุตสาหกรรมมูลค่าสูง นำไปสู่การให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับการให้สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะอีอีซีใหม่ทั้งหมด มุ่งให้สิทธิประโยชน์สูงสุดไปที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ผลสัมฤทธิ์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม จากการปรับโครงสร้างการผลิตครั้งนี้ ยังคงเป็นอะไรที่ต้องติดตามในระยะยาว เพราะในระยะสั้นยังคงเห็นเป็นเพียงตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น 

เช่นในปี 2562 ที่ผ่านมามียอดนักลงทุนขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 756,100 ล้านบาท ซึ่งในนี้เป็นการขอลงทุนในอีอีซี 506 โครงการ เงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมฯ ทั้งหมด และแยกเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 838 โครงการ เงินลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38

รถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ

18 กระสุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินลงทุน 1 ล้านล้าน

นอกจากโครงการในอีอีซี โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ นอกอีอีซีเองก็ได้รับอนุมัติผ่าน ครม.ยุค คสช.ให้เริ่มก่อสร้างได้ เฉพาะภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมระยะเร่งด่วน 20 โครงการ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ 18 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งนับว่ามีการอนุมัติให้ดำเนินโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดนับแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา

เฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่รวมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง สายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนและแดงเข้ม เงินลงทุนรวมเกือบ 4 แสนล้านบาท 

รถไฟทางคู่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง 4 เส้นทาง ได้แก่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, ช่วงนครปฐม-ชุมพร, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ,ลพบุรี-ปากน้ำโพเงินลงทุนรวม 1.09 แสนล้านบาท ทางพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง พัทยา-มาบตาพุด,บางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่-กาญจนบุรี เงินลงทุนรวม 1.6 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 เงินลงทุน 6.25 หมื่นล้านบาท

คิวอาร์โค้ต-QR Code

วางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน National e-Payment

เช่นเดียวกับการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบชำระเงินของประเทศ หรือ National e-Payment ที่นับเป็นความโชคดีที่ช่วงกลางรัฐบาล คสช.ได้อดีตนายแบงก์อย่าง 'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' มานั่งเก้าอี้ขุนคลังช่วยผลักดันหลายนโยบายรวมถึงเรื่องระบบชำระเงิน หลายคนอาจรู้จักเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ผ่านบริการ "พร้อมเพย์" ที่สามารถโอนเงินข้ามธนาคารได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมอีกต่อไป แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเดียวของระบบ National e-Payment ด้วยโครงสร้างที่ถูกวางใหม่นี้นับเป็นการปฏิวัติการชำระเงินของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาระบบชำระเงินอื่นๆ เช่น การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด สำหรับร้านค้าตั้งแต่ขนาดใหญ่ยันรถเข็นขายส้มตำ เป็นข้อต่อสำคัญให้การค้าอีคอมเมิร์ซให้เติบโตอย่างรวดเร็ว 

พร้อมกับการพัฒนาระบบการชำระเงินใหม่คือนโยบายการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหมายถึงผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี รวม 14 ล้านคน สามารถนำบัตรไปใช้จ่ายสำหรับค่ารถโดยสาร ส่วนลดก๊าซหุงต้ม รวมถึงซื้อสินค้าบริโภคที่จำเป็น ซึ่งโครงการนี้เองที่ถูกตั้งข้อกังขาว่าเป็น "โครงการที่เอื้อประโยชน์กับบรรดาเจ้าสัว" ผู้ผลิตสินค้าพื้นฐานในลิสต์ที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ จะต้องซื้อในแต่ละเดือนไม่ว่าจะเป็นสบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน น้ำมันพืช ฯลฯ แต่ถ้ามองในแง่ของการให้เงินช่วยเหลือแล้วโครงการนี้นับว่าเป็น ครั้งแรกที่มีการคัดเลือกและจัดระบบการให้เงินที่ตรงคน และตีกรอบการใช้เงินให้อยู่ในกลุ่มสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันจริง 

ประยุทธ์ สมคิด จุรินทร์ 23120359000000_l.jpg

งานที่ยังค้างคา และอนาคตของ 'สมคิด'

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจแต่ช่วงรัฐบาล คสช. 'สมคิด' แทบไม่มีบทบาทในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้อยู่ในการดูแลของรัฐมนตรีสายทหารอย่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เจ้ากระทรวงในเวลานั้น โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล นโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจรากหญ้าของสมคิด จึงออกไปอยู่ที่มาตรการด้านการท่องเที่ยว เช่น การโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด แต่เนื่องจากเป็นนโยบายที่มาเริ่มในช่วงท้ายของรัฐบาล คสช.นโยบายนี้จึงดูเหมือนจะเงียบหายไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

นอกจากด้านเศรษฐกิจสมคิดยังดูแลภารกิจด้านการต่างประเทศ ซึ่งช่วงของรัฐบาล คสช.ที่มาจากการรัฐประหารนับเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยถูกปฏิเสธจากประเทศตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และยุโรป จึงเป็นช่วงเวลาที่ไทยต้องใกล้ชิดกับจีนค่อนข้างมาก 'สมคิด' เดินทางไปเยือนจีนหลายครั้ง พยายามเชื่อมประเทศไทยเข้ากับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ของจีน กระทั่งเกิดอภิมหาโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะก่อสร้างไปเชื่อมต่อกันที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย  

ความคืบหน้าล่าสุดในฝั่งของไทยได้อนุมัติจาก ครม.ให้เริ่มก่อสร้างคือระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา มูลค่า 1.79 แสนล้าน แต่การก่อสร้างก็ยังคงเป็นไปค่อนข้างช้า จากปัญหาการส่งพื้นที่ให้แก่ผู้รับเหมา จากทั้งหมด 14 สัญญา ถึงวันนี้มีการเริ่มก่อสร้างไปเพียง 2 สัญญา  

ภายหลังการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2562 และฟอร์มรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ แม้ 'สมคิด' จะยังได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจต่อไป แต่นับนิ้วแล้วก็เหลือกระทรวงเศรษฐกิจให้คุมเพียงกระทรวงการคลัง อุตสาหกรรม และพลังงาน และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เช่น บีโอไอ สภาพัฒน์ ส่วนกระทรวงสำคัญอย่างกระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ คมนาคม การท่องเที่ยวฯ ที่เคยเป็นมือไม้ในยุค คสช.ได้ไปอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น 

พาวเวอร์ในการควบคุมงานด้านเศรษฐกิจของ 'สมคิด' จึงลดลงไปพอดู ดังที่เจ้าตัวเองได้ออกตัวไปก่อนหน้านี้ว่า "ผมไม่ได้เป็นรองนายกฯ เศรษฐกิจแล้ว"

ช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็นับเป็นช่วงการวัดฝีมือของกุนซือเศรษฐกิจ 'สมคิด' เช่นเดียวกัน เพราะนอกจากต้องบริหารเศรษฐกิจด้วยแขนขาที่อยู่ในการควบคุมจำนวนน้อยลงแล้ว เวลานี้ทั้งศึกนอก ศึกในพรรคพลังประชารัฐเองก็เริ่มคุกรุ่น กระแสปรับ ครม.พลันถูกจุดขึ้นอีกครั้ง หลัง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 มีผลบังคับ เรียกได้ว่าเงินมาแรงกระเพื่อมก็เกิด

หากจับสัญญาณยามนี้ ประเทศไทยก็คงคาดหวังจะเห็นนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องระยะยาวได้ค่อนข้างยากภายใต้บรรยากาศการเมืองในระยะต่อไป และอาจจะจบลงเพียงแค่โครงการหรือนโยบายต่างๆ ที่ได้ทำไปในยุค คสช.เท่านั้น ไม่ใช่ 'ยุครัฐบาลพลังประชารัฐและพรรคร่วม'