25 ก.ย. 2566 ไกลก้อง ไวทยาการ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใสสมรรถนะสูง เปิดเผยการเดินทางไปศึกษาดูงานที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ของปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ซึ่งมี สส.ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยร่วมเดินทางด้วย ในระหว่างวันที่ 21 ถึง 24 ก.ย. ที่ผ่านมา
โดยในวันที่ 22 ก.ย. คณะได้เข้าพบ รองประธานรัฐสภาสิงคโปร์ เพื่อหารือการพัฒนา Smart Parliament ที่รัฐสภาสิงคโปร์ พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็น เรื่องความหลากหลายในรัฐสภาโดยเฉพาะสัดส่วน สส.สตรีที่รัฐสภาสิงคโปร์มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้ได้นำข้อมูลต่าง ๆ เผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐสภาแล้ว ยังมีแอปพลิเคชันที่ใช้สื่อสารกับสมาชิกรัฐสภา ที่เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อยืนยันตัวผ่านระบบ Sing Pass และมีจุดผู้มาเยี่ยมติดต่อรัฐสภา ที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ และส่วนบริการข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ
ในช่วงบ่าย เข้าพบ เอกอักคราชฑูตไทย ประจำสิงคโปร์ เพื่อรับฟังสรุปความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสิงคโปร์ โดยประเทศไทย และสิงคโปร์ เคยลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเมื่อปี 2564 หรือ The Digital Economy Partnership Agreement (DEPA) ไว้ ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในระดับดี จากนั้นพบกับตัวแทนนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสิงคโปร์ ก่อนไปพบผู้ที่มาทำงานสายเทคโนโลยี เพื่อหาแนวทางทำอย่างไรให้ประเทศไทย ดึงดูดคนทำงานสายเทคโนโลยี และ Start up มากกว่านี้
ต่อมาวันที่ 23 ก.ย. คณะฯ ได้พบภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจ Start up ด้านยานยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และในช่วงเย็น ได้ไปเยี่ยมเยียนคนงานไทยที่พักคนงานที่มาทำงานก่อสร้าง ระหว่างการตั้งวงสังสรรค์หลังเลิกงานในช่วงเย็นวันเสาร์ เพื่อสอบถามถึงความเป็นอยู่ และการมาทำงานในสิงคโปร์
และวันสุดท้ายในวันที่ 24 ก.ย. คณะฯ เดินทางไป Marina Barrage หรือ เขื่อนกั้นปากแม่น้ำสิงคโปร์ ที่เปิดใช้งานเมื่อปี 2008 เพื่อให้สิงคโปร์มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ผลิตน้ำประปาดื่มได้ ป้องกันน้ำท่วม และเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เพราะสิงคโปร์ เป็นเกาะที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากประเทศอื่น โดยเฉพาะน้ำ ดังนั้น การสร้าง Marina Barrage จึงเป็นเขื่อนกั้นน้ำจืดจากแม่น้ำสิงคโปร์ไม่ให้ไหลลงทะเลหมด และผันน้ำเข้าสู่ water bank ขนาดยักษ์ใต้ดินนำไปผลิตเป็นประปาดื่มได้
จากนั้นในช่วงบ่าย ได้ทานอาหารกลางวัน และพูดคุยกับ สส.พรรคคนงาน หรือ Workers' Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านของสิงคโปร์ มีที่นั่งในสภาฯ 8 ที่นั่ง เพื่อพูดคุยถึงการทำงานเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงน้อยมาก ในรัฐสภา ซึ่งทางกลุ่ม สส.ฝ่ายค้านสิงคโปร์ เล่าว่า มีความยากในการทำงาน และ การมีบทบาทของฝ่ายค้านในสภาฯ ฝั่งรัฐบาลสิงคโปร์มีการปรับตัวตอบสนองประชาชนตลอด และยังเข้าถึงทรัพยากรในการทำงานมากกว่า ทำให้ยังเป็นที่นิยม อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีโอกาสจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และอยากให้เกิดความหลากหลายทางนโยบายของสิงคโปร์มาสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันมากขึ้น