กรณีที่คณะกรรมการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กรรมการ ป.ป.ช.) มีมติเลือกบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา และวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้น
มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ท่านหนึ่งให้เหตุผลว่า สมาชิก สนช.ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในลักษณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญเพียงกำหนดให้สมาชิก สนช.ในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น เป็นเพียงตำแหน่งเฉพาะกิจ แต่ไม่ถือเป็นตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. อีกทั้งตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 ระบุชัดเจนว่า สนช. ไม่อยู่ในข่ายที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนดังกล่าวได้
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวผ่านสถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ ในรายการสำนึกของสังคมว่า
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เป็นรัฐธรรมนูญภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 และให้มี สนช. ซึ่งเป็นระบบสภาเดียว แต่ทำหน้าที่ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ กำหนดไว้
โดยปกติ ส.ส. มีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ส่วน ส.ว. มีหน้าที่กลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีสภาเดียวคือ สนช. รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ สนช. มีอำนาจให้ความเห็นชอบแก่ร่างพระราชบัญญัติก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ดังนั้น สนช. จึงมีอำนาจเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรหรือ วุฒิสภารวมกัน ซึ่งมากกว่าอำนาจของแต่ละสภา
2. เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 ปรากฏว่า ประเทศไทยใช้ระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีบทบัญญัติเรื่อง สนช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไว้ว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ สนช. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิก สนช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ตามลำดับ (มาตรา 263 วรรคหนึ่ง)
3. แต่สมาชิก สนช. ดังกล่าวตาม 2. จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ด้วย คงมีลักษณะต้องห้ามบางประการที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ยกเว้นไว้ว่า ไม่ให้นำมาใช้บังคับ เช่น
(1) สมาชิก สนช. ในฐานะ ส.ว. มาทำหน้าที่ ส.ส. ไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี (มาตรา 263 วรรคสอง (1))
(2) สมาชิก สนช. ในฐานะ ส.ส. มาทำหน้าที่ ส.ว. ไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปี (มาตรา 263 วรรคสอง (3))
(3) สมาชิก สนช. ในฐานะ ส.ว. เป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี (มาตรา 263 วรรคสาม)
(4) สมาชิก สนช. จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ก็ต่อเมื่อได้ลาออกภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 (มาตรา 263 วรรคเจ็ด)
4. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 การสรรหาและแต่งตั้งบุคคลมาเป็น ส.ว. จำนวน 196 คน มีลักษณะต้องห้ามประการหนึ่งที่ยกเว้นไว้ว่า ไม่ให้นำมาใช้บังคับคือ คนที่เป็นรัฐมนตรีมาก่อน สามารถได้รับการสรรหาและแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. ได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปี (มาตรา 369 (2)) แต่คนที่เป็นสมาชิก สนช. ในฐานะ ส.ส. มาก่อน รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติให้แต่งตั้งได้โดยไม่ต้องเว้นวรรคดังกรณีที่รัฐมนตรีมาเป็น ส.ว. ดังนั้น สมาชิก สนช. ในฐานะ ส.ส. จึงน่าจะไม่สามารถได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. โดยยังเว้นวรรคไม่ถึง 5 ปี
"ในส่วนของกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีลักษณะต้องห้ามอยู่ 24 ข้อ ข้อที่เป็นปัญหาคือ เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา (พรป. ป.ป.ช. 2561 มาตรา 11 (18)) อดีตสมาชิก สนช. ในระบบสภาเดียว ย่อมมีสถานะเป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จึงมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. หากเว้นวรรคไม่เกิน 10 ปี" ประธาน กสม. กล่าว
ส่วนกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งโดยปกติเป็นประชาชนที่มาจากการแข่งขันในการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง ไม่เหมือนสมาชิก สนช. ซึ่งส่วนมากแต่งตั้งจากข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และชนชั้นนำในประเทศ ซึ่งได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว แม้สมาชิก สนช. จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายน้อยกว่า ส.ส. หรือ ส.ว. เล็กน้อย ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ยกเว้นการเว้นวรรค 10 ปีดังกล่าวไปได้
ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขององค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย แม้กฎหมายจะบัญญัติต่อไปว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด ก็ไม่ตัดอำนาจขององค์กรตุลาการที่จะเข้ามาตรวจความถูกต้อง
องค์กรตุลาการดังกล่าวคือศาลปกครอง เพราะกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และคณะกรรมการสรรหาถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งหรือมติที่คณะกรรมการสรรหาเลือกอดีตสมาชิก สนช. มาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้ภายใน 90 วัน
ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบอดีตสมาชิก สนช. เป็นกรรมการ ป.ป.ช. และพ้นกำหนดเวลา 90 วันไปแล้ว ประธานวุฒิสภาควรรอข้อยุติจากการสรรหา กสม. อีก 3 คน ที่ยังดำเนินการอยู่ ก่อนนำความขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ส่วนกรณีการสรรหา กสม. อีก 3 คนที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น หากคณะกรรมการสรรหาประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว ผู้ที่ถูกตัดรายชื่อออกไปเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม สามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองกลางภายใน 90 วัน เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา เมื่อมีการฟ้องคดีดังกล่าว กระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาและการพิจารณาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะกฎหมายบัญญัติว่า ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา และมิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับ (พรป. กสม. 2560 มาตรา 18)