ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง นปช.ก่อการร้าย จัดชุมนุมใหญ่ปี 53 แก้ให้จำคุก 'เจ๋ง ยศวริศ' 5 ปี 4 เดือน ฐานข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ ส่วน 'สุขเสก' แนวร่วมชุดดำ ครอบครองระเบิดเอ็ม79 ให้จำคุกตลอดชีวิต

วันที่ 9 ม.ค. ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ ,ก่อแก้ว พิกุลทอง , ขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา , ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก , นิสิต สินธุไพร , การุณ โหสกุล, วิภูแถลง พัฒนภูมิไท, ภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง , สุขเสก พลตื้อ

จรัญ ลอยพูล , อำนาจ อินทโชติ , ชยุต ใหลเจริญ , สมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง ,สุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ ,รชต วงค์ยอด, ยงยุทธ ท้วมมี , อร่าม แสงอรุณ , เจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ , มานพ ชาญช่างทอง , สมพงษ์ บางชม, อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ทั้งหมดเป็นแกนนำ, การ์ด และแนวร่วม นปช. เรียงตามลำดับเป็นจำเลยที่ 1-24

ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพล หรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย มาตรา 135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ส่วน ยศวริศ จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 358 และ นายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้าสั่งการ มาตรา 215 และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก มาตรา 216 ทั้งหมดตามประมวลกฎหมายอาญา

คำฟ้องโจทก์ระบุกรณีพวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่าอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯโดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบริเวณแยกราชประสงค์ นอกจากนั้น ยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ด้วย มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธเพื่อการก่อการร้าย

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ ลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กับห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดว่า ไม่มีความผิดฐานก่อการร้าย

วันนี้ วีระกานต์, ณัฐวุฒิ, จตุพร, นพ.เหวง แกนนำและแนวร่วม นปช.ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน ยกเว้น สมบัติ มากทอง จำเลยที่ 16 เสียชีวิต กับ สุรชัย เทวรัตน์ จำเลยที่ 17 และ อริสมันต์ จำเลยที่ 24 ที่หลบหนี

ขณะเดียวกัน ได้อ่านคำพิพากษาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปให้ สมพงษ์ บังชม จำเลยที่ 23 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯฟัง นอกจากนี้ ยังมี ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช., วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. คนใกล้ชิดและผู้ติดตามเกือบ 30 คน ที่เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่ม นปช. ร่วมฟังคำพิพากษา ขณะที่ศาลมีตำรวจจาก สน.พหลโยธิน และเจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์ทมาแชล) เข้าร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลและภายในห้องพิจารณาคดี

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่า ยศวริศ จำเลยที่ 7 ประกาศให้ผู้ชุมนุมร่วมกันรื้อค้นและทุบทำลายรถยนต์ของทางราชการได้รับความเสียหาย มีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และกระทำการให้กลัวว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และเป็นการข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ให้ยินยอมโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง

ส่วน สุขเสก จำเลยที่ 12 พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ และมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการนำเครื่องยิงระเบิดเอ็ม79 ระเบิดลูกเกลี้ยง และกระสุนปืนจำนวนหนึ่งไปให้บุคคลนำไปฝัง ซึ่งต้องการปิดบังอำพรางอาวุธดังกล่าว โดยมีพยานซึ่งเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 12 เป็นผู้ใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม79 ขณะเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

การกระทำของจำเลยที่ 12 จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของบุคคลใด เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน อันเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง และ 358 ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 12 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1(1) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษ จำเลยที่ 7 ฐานข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำคุก 5 ปี และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี

คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก รวม 5 ปี 4 เดือน และให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.193/2556 ของศาลชั้นต้น

ส่วนสุขเสก จำเลยที่ 12 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ต่อมาทนายความของยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก จำเลยที่ 7ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่ากว่า 2.3 ล้านบาทเศษ ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ยศวริศประตัวไประหว่างฎีกา โดยตีราคาประกัน 6แสนบาท

ส่วนสุขเสก พลตื้อ จำเลยที่ 12 ศาลอาญาพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้สุขเสก จำเลยประกันตัวไปโดยตีราคาประกัน 2 ล้านบาทบาทระหว่างฎีกา