เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่โรงแรมไอบิส รัชดา องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International:PI ) จัดแถลงข่าว 'ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน' เพื่อเป็นการนำเสนอปัญหาและทางออกให้กับรัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการใช้กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นรูปธรรม และสามารถคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและยุติการฟ้องปิดปากได้อย่างแท้จริง
ดร. พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติ และองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ กล่าวเปิดงานและปาฐกถา ว่าอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนไหวนักปกป้องสิทธิผู้หญิง นักป้องป้องสิทธิสิ่งแวดล้อม ก็คือ การใช้กฎหมายมาฟ้องปิดปาก ซึ่งขัดหลักการโรดแม็พ 10 ปี ขององค์การสหประชาชาติ กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เห็นว่าการกระทำโดยใช้กฎหมายปิดปาก โดยบริษัทเอกชนต่างๆ รวมทั้งภาครัฐเองต้องหยุดการกระทำนี้ ตรงกันข้าม ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเองต้องมองนักปกป้องสิทธิ เสมือนเป็นเพื่อนร่วมทาง โดยเฉพาะเรื่องของการเยียวยา เพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนฯ เห็นว่า รัฐบาล กระทรวงยุติธรรม รวมถึงบริษัทเอกชน ต้องยุติกฎหมายปิดปากนี้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ถือเป็นการใช้กฎหมายเพื่อมาคุกคามนักปกป้องสิทธิ นอกจากจะหยุดใช้กฎหมายนี้ ทางรัฐบาลไทย ต้องมีกลไก มาช่วยเหลือทางด้านคดี การเยียวยา เพราะนักต่อสู้โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ถูกกระทำ นอกจากสูญเสียเรื่องเวลา การดูแลครอบครัวแล้ว ยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจ ที่ถูกทำให้หวาดกลัวด้วย ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายปิดปากนี้ต้องหมดสิ้นไป เพราะนักปกป้องสิทธิ ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สร้างสังคมให้มีความยั่งยืน ”ดร.พิชามญช์ กล่าว
ด้าน ปรานม สมวงศ์ กล่าวถึงรายงานเรื่อง “ปิดปากความยุติธรรม การต่อสู้กับการฟ้องคดีปิดปาก และการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” ว่ารายงานนี้ไม่ได้เป็นของพีไอองค์กรเดียวแต่เป็นของขบวนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิกว่า 19 ขบวนฯ ที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุยชน พีไอตั้งข้อสังเกตถึงการใช้ระบบยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือเพื่อจัดการกับฝ่ายต่อต้านผู้มีอำนาจมากขึ้น เราเก็บข้อมูลมา 9 ปีตั้งแต่มีการรัฐประหาร พบว่าภาคธุรกิจและฝ่ายรัฐบาลมีการฟ้องปิดปากเพิ่มขึ้นมา โดยกฎหมายหมิ่นประมาทในการฟ้องปิดปาก ระบบกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติในเชิงโครงสร้าง ประกอบกับอคติของผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อนักปกป้องสิทธิ รวมทั้งส่งผลกระทบไปยังชุมชนและครอบของด้วย
ปรานม กล่าวว่า เราได้สังเกตเห็นถึงการใช้การฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) ที่แปลว่าตบหน้าในภาษาอังกฤษ หน่วยงานหรือรัฐบาลได้ฟ้องคดีเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ และมีเป้าหมายเป็นผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนของตนเองและสังคม หรือการเผยแพร่ข้อมูลในพื้นที่และสังคม โดยกล่าวหาว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่น ซึ่งเรื่องนี้การบั่นทอนโครงสร้างของสังคมประชาธิปไตยในทางอ้อม ทำให้เกิดภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพและความก้าวหน้าของประชาธิปไตย ดังนั้นคดี SLAPP เขาไม่ได้ตบหน้านักกิจกรรม ผู้หญิงหรือนักปกป้องสิทธิคนเดียว แต่เขากำลังตบหน้าสังคมและเราทุกคนเพราะเขาปิดกั้นไม่ให้สาธารณะได้ประโยชน์
“เราพบว่ากว่า 570 คดีส่วนใหญ่เป็นการฟ้องโดยบรรษัทเหมืองแร่ บริษัทน้ำมันปาล์ม และหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมอุทยานฯ ผู้หญิงยากจนในเขตเมืองถูกเวนคืนที่ดิน และผู้หญิงที่ปกป้องที่ดินและทรัพยากรในชุมชนก็ตกเป็นเป้าหมายด้วย ความรุนแรงของสถานการณ์นี้ เน้นให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาการใช้การฟ้องคดีปิดปากอย่างมิชอบ แทนที่จะสนับสนุนและคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิ รัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้บริษัทใช้การคุกคามและการข่มขู่โดยผ่านกระบวนการยุติธรรมและอื่น ๆ ที่ผ่านมาเป็นที่น่าเสียใจ เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ยุติการห้องปิดปาก หวังรัฐบาลใหม่หนัมาสนใจและยุติการฟ้งอคดีเหล่านี้”” ปรานมกล่าว
ปรานม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามภายหลังการเห็นชอบต่อหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเปิดตัวแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และถือเป็นหนึ่งในสี่วาระเร่งด่วน ในเดือนก.ค. 2565 ครม.มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอและเปิดตัวเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย โดยถือเป็นเพียงมติของหน่วยงานฝ่ายบริหารภายใต้รัฐบาลไทย และมีสถานะเป็นเพียง “กฎ” ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการผลักดันและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการฟ้องคดีปิดปาก และการคุกคามด้วย ทั้งนี้เราจะรวบรวมข้อเสนอส่งไปยังรัฐบาลใหม่ ผ่านกระทรวงยุติธรรม และติดตามผ่านกลไกสภาต่อไป
ด้าน สุธีรา เปงอิน กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2557-2565 พบว่ามีการฟ้องคดีปิดปาก 570 คดี แบ่งตามรายภูมิภาค แยกเป็นภาคกลาง ถูกฟ้อง 270 คดี ภาคเหนือถูกฟ้อง 142 คดี ภาคอีสานถูกฟ้อง 130 คดี และภาคใต้ถูกฟ้อง 20 คดี ใน 11 ฐานความผิด มากที่สุดเป็นคดีเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย ขับไล่ จำนวน 217 คดี ความผิดฐานบุกรุก และความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ อุทยานฯ และนโยบายทวงคืนผืนป่า จำนวน 159 คดี ความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ จำนวน 47 คดี ความผิดฐานหมิ่นประมาท หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำนวน 41 คดี เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีเรื่องกองทุนยุติธรรมเข้ามาสนับสนุนประชาชน แต่จากสถิติทั้งหมด 570 คดีนั้น มีคนเข้าไปใช้กระบวนการของกองทุนยุติธรรมแค่ 42 คดี และจากการที่ขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนมีความยุ่งยากซับซ้อน จึงมีคนได้รับการอนุมัติเพียงแค่ 26 คนเท่านั้น ดังนั้นหวังว่าเวทีวันนี้จะมีการรับฟังเสียงและผลกระทบที่เกิดขึ้น และมีการแก้ไขและยุติการฟ้องปิดปากต่อไป
จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน” โดยอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตกสม.และผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ กล่าวว่า คดีที่ตนถูกฟ้องถือเป็นเหมือนคดีประวัติศาสตร์การฟ้องกลั่นแกล้งในประเทศไทย เป็นที่คดีธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเริ่มที่บริษัทอุตสาหกรรมฟาร์มไก่ฟ้องแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้าง 14 คน ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน นักวิชาการ รวมถึงอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 22 คน รวม 37 คดี ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากในช่วงที่รัฐบาลไทยประกาศแผนปฏิบัติการชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 (NAP 2)และประกาศให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่กลับพบว่าการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง หรือฟ้องปิดปากกลับมากขึ้น และไม่มีแนวโน้มลดลงการฟ้อง ในลักษณะดังกล่าวนี้ตนขอเรียกว่าเป็นการฟ้องทิพย์ คือการฟ้องที่ไม่ได้หวังผลเรื่องความยุติธรรม แต่เป็นการฟ้องเพื่อยับยั้งการทำงานและลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ถูกฟ้อง อีกทั้งเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำให้หวาดกลัว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและด้านจิตใจด้วย ส่วนแผน NAP 2 ขอเรียกว่าเป็นแผนทิพย์ เพราะยังไม่มีกลไกในการคุ้มครองที่แท้จริง
อังคณา กล่าวต่อว่า ในส่วนการประเมินรัฐบาลใหม่ที่กำลังฟอร์มทีมและกำลังจะเริ่มทำงานอังคณากล่าวว่า เวลาเปลี่ยนรัฐมนตรี เราก็มักจะมีความหวัง ตอนมีแผนปฏิบัติการชาติก็ดีใจ แต่สุดท้ายก็ผิดหวัง ก็คงต้องดูต่อไป การให้ความสำคัญกับเรื่อง ธุรกิจกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การจัดงานอีเว้นท์ใหญ่ ๆ อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐชอบทำ หรือแค่การประกาศเจตนา แต่ต้องลงมือทำจริง ก็อยากฝากถึงรัฐมนตรียุติธรรมคนใหม่ให้เข้ามาดูแลงานของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างจริงจัง ในด้านของแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้วย อยากเห็นความจริงใจของรัฐบาลใหม่ในการยุติการฟ้องปิดปากประชาชน อยากเห็นการแก้ปัญหาโดยประชาชนมีส่วนร่วม ที่สำคัญ รัฐไม่ควรมองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู หรือเป็นพวกที่คอยต่อต้าน ถ้าประชาชนไม่เดือดร้อน คงไม่มีใครมาเรียกร้องอะไร
อังคณา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นกระทรวงยุติธรรมควรหารือประธานศาลฎีกา ในการให้มีกฎหมายเพื่อยุติหรือยับยั้งการฟ้องที่ไม่สุจริต หรือฟ้องเพื่อต้องการกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ขอฝากไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรมีบทบาทในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น ควรร่วมสังเกตการณ์คดี หรือขอพบประธานศาลฎีกาเพื่อหารือเรื่องการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งหรือเพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่การทำรายงานข้อเสนอแนะ หรือแค่เพียงการทำงานร่วมกับเครือข่ายบางกลุ่ม แต่ไม่ได้เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส ที่เป็นหลักการสำคัญที่สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติต้องยึดถือ
ด้าน ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจ.เลยกล่าวว่า ตนและชุมชนได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำที่ปนเปื้อนทั้งในน้ำและแหล่งอาหารและพวกเราต่อสู้กันมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ส่วนตัวของตนถูกฟ้องปิดปากไป 6 คดี และชาวบ้านในชุมชนที่ต่อสู้ด้วยกันกว่า 30 คนก็ถูกฟ้องไปอีก 30 คดี เพื่อยับยั้งและยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ของเรา ซึ่งการฟ้องคดีปิดปากมีจุดมุ่งหวังแบบเดียวกันคือยุติและยับยั้งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และกระบวนการฟ้องร้องก็ทำกันเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องจากนายทุนหรือรัฐ ตอนนี้จึงเท่ากับว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิต้องต่อสู้ทั้งกับทุนและรัฐด้วย นอกจากนี้ในส่วนของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้คดี ยังมีปัญหาอีกมากเวลาชาวบ้านอย่างพวกเราจะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก โดยเฉพาะในส่วนของการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม ที่จะใช้ในการต่อสู้คดีเป็นเรื่องที่ยากลำบากจากทั้งหมด 30 คดี เราได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมแค่เพียงคดีเดียว และมีการตั้งธงว่าชาวบ้านเป็นคนผิดในขณะที่ศาลยังไม่ได้ไต่สวนพิจารณาคดีเลย
ทั้งนี้หลังจากที่ได้มีการประกาศรายชื่อของคณะรัฐบาลชุดใหม่และได้มีการเผยแพร่แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ที่จะเน้นพัฒนาไปที่โครงการขนาดใหญ่โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงสิทธิชุมชนหรือสิทธิมนุษยชน ยิ่งทำให้เรามีความกังวล เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบกับโครงการขนาดใหญ่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาก็จะมีแต่ชาวบ้าน คนในชุน การที่รัฐบาลใหม่จะกอบกู้เศรษฐกิจด้วยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จึงหนีไม่พ้นที่ชาวบ้านต้องเป็นคนที่ได้รับผลกระทบ และจะถูกฟ้องคดีปิดปากเพิ่มมากขึ้น
“วันนี้เราจึงมีข้อเรียกร้องที่จะส่งไปถึงรัฐบาลชุดใหม่โดยรัฐจะต้องป้องกันไม่ให้มีการคุกคามข่มขู่และล่วงละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่รับผิดชอบในการคุกคามและละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมายและยุติธรรมในการกลั่นแกล้งและปิดปากจะต้องรับผิดชอบและหากเจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องมีความรับผิดทางละเมิดทั้งในทางการเงินทางกระบวนการยุติธรรมและทางการเมือง นอกจากนี้เรายังขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ( CEDAW ) ที่มีข้อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมแก้ระเบียบที่มีความยุ่งยากในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมด้วย”ภรณ์ทิพย์กล่าว
สรารัตน์ เรืองศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวว่า เราต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และความมั่นคงทางอาหาร ที่ผ่านมาสหพันธ์ฯ ถูกเอกชนใช้กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องปิดปากพวกเรากว่า 12 คดี โดยมีการคุกคามข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่โดยใช้กฎหมายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ถึงแม้ว่าเราถูกคุมคามและเกิดความกลัว แต่เราก็อดทน ไม่ถอยจะยืนหยัดต่อสู้ให้เกิดสิทธิ์ให้เข้าถึงที่ดิน และผลักดันให้รัฐดำเนินนโยบายโฉนดชุมชนต่อไป ทั้งนี้ขอให้รับบาลใหม่มีความจริงใจและจริงใจในแก้ไขปัญหาฟ้องปิดปาก โดยตระหนักถึงสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ คือ
ด้าน ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเป็นเรื่องที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท ดังนั้นถ้าเรามีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ ก็จะทำให้เราสามารถดำเนินการในสิ่งที่เราอยากบอกกับสังคมได้อย่างสบายใจมากขึ้น ตนจะนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่สภาต่อไปทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการเสนอกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผลักดันกองทุนยุติธรรมให้เกิดผลจริงๆ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้เห็นด้วยว่าต้องเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยที่เห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาต้องแก้ไข และต้องมี ส.ส.ร.จากประชาชนมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ เชื่อว่าในอนาคตน่าจะแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา เพราะการลิดรอนสิทธิเกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร แต่ขณะนี้มีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นแล้ว จึงมั่นใจว่าเสียงประชาชนจะถูกรับฟังมากกว่าในอดีต
ส่วน ชลธิชา แจ้งเร็ว สส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ก่อนมาเป็น สส. เดิมตนเป็นนักป้องป้องสิทธิ พลเมืองเรื่องของการเมือง จากการเคลื่อนไหว ตนถูกดำเนินคดีมากกว่า 28 คดี บางคดีก็มีการยกฟ้องไปแล้ว อย่างไรก็ตามตนมีข้อสังเกต บางคดีเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ผ่านมาเนิ่นนาน ก็กลับมายกฟ้องไม่กี่เดือนมานี้ กฎหมายปิดปากที่มาทำกับเรา และใช้เวลานาน เขาไม่ต้องการแสวงหาความจริง เพียงแต่เขาต้องการให้เกิดความยุ่งยาก ทำให้เกิดความล่าช้าทางกระบวนการยุติธรรม มุ่งจะทำให้เราที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เกิดความเหนื่อยล้าในการต่อสู้คดี ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เราเสียเวลาในการขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เราเสียโอกาสในการต่อสู้คดี ที่สำคัญสร้างผลกระทบอย่างมากด้านจิตใจ นักต่อสู้หลายคนเกิดความเครียด กดดัน บางรายถูกตีตราจากสังคมไปแล้วว่า เป็นคนผิด
“ทั้งนี้เรามีความจำเป็นต้องจริงจังกับกลไกการตรวจสอบผู้พิพากษาในปัจจุบัน กรณีมีการเคลือบแคลบสงสัยในการทำหน้าที่ จำเลยสามารถร้องโดยผ่านกลไกลคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ กต. อย่างกรณีของตน ที่ถูกคดีม.112 ที่มีการเร่งรีบทำคดี เมื่อมีการร้องไป เมื่อท้วงถามความคืบหน้า กลับไม่มีการรายงานความคืบหน้ามา และเงียบหายไป ไม่เฉพาะคดีตนเท่านั้น อีกในหลายคดีก็เงียบกริบ จึงถึงเวลาแล้ว ที่กต.ต้องมาจากภาคประชาชน ไม่ใช่การคัดเลือกมาจากผู้พิพากษาแบบเดิม ”ชลธิชา กล่าว
ชลธิชา กล่าวต่อว่า เรื่องกฎมายปิดปาก ในกลไกของรัฐสภา เมื่อครั้งรัฐบาลชุดเดิม ทางพรรคก้าวไกล มีการยื่นกฎหมายแก้ไขเข้าสู่รัฐสภา แต่สุดท้ายก็ถูกตีตกไป ยืนยันว่า ราจะเดินหน้ายื่นต่อรัฐสภา เพื่อแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีการทางแพ่ง และอาญา กฎหมายอาญามาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 116 กรณียุยงปลุกปั่น ที่ควรยกเลิกโทษหนัก จากจำคุก 7 ปี เหลือ 3 ปี นอกจากนี้พรรคก้าวไกล มีแนวคิดที่จะเสนอ กฎหมายนิรโทษกรรม เบื้องต้นเน้นไปที่ประชาชนนักต่อสู้ที่ถูกดำเนินคดี เป็นสำคัญ ไม่รวมกับเจ้าพนักงานที่กระทำความผิด ยืนยัน การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ไม่ใช่การเหมาแข่งเหมือนครั้งที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้ทางพรรคจะมีการพูดคุยอีกครั้ง ก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อไป
ขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้มาในฐานะผู้รับฟัง ซึ่งปัจจุบันเราเรายังขาดกลไกเรื่องการคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของ 570 คดี ก็จะไปติดตามให้โดยให้ความยุติธรรม วันนี้คงไม่ได้มาแสดงนโยบายอะไร เพราะต้องรอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 ก.ย.นี้ก่อน ทั้งนี้เรื่องท้าทายของรัฐบาลคือการฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส เพราะหลักนิติธรรมคือการจำกัดอำนาจของรัฐบาล รวมทั้งการปราศจากคอร์รัปชั่นก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย เราพร้อมรับฟังนักปกป้องสิทธิ์ทั้งหมด และมีแผนปฏิบัติการต่อไปโดยให้มีประชาชนมีส่วนร่วม.