ไม่พบผลการค้นหา
ราฮาฟ อัลกุนุน สาวรุ่นชาวซาอุดีฯ พบสื่อเป็นครั้งแรก เจ้าตัวคาดว่าจะมีเพื่อนร่วมชาติหลบหนีระบบชายเป็นใหญ่เพิ่มขึ้นอีก พร้อมบอกปัดไม่ได้เลือกไปแคนาดาอย่างที่เจ้าหน้าที่ไทยให้ข่าว

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์แคนาเดียน บรอดแคสติง คอร์ปอเรชั่น (ซีบีซี) ในแคนาดา เผยแพร่การให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกของราฮาฟ อัลกุนุน นับแต่หญิงชาวซาอุดีอายุ 18 ปีผู้นี้เดินทางจากประเทศไทยไปถึงนครโทรอนโตเมื่อวันเสาร์

เธอบอกว่า ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัย เธอจะเรียนหนังสือ หางานทำ และใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่สามารถทำได้ในซาอุดีอาระเบีย การมาอยู่ในแคนาดาทำให้รู้สึกดีมาก นับว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เธอได้ทำไป

ราฮาฟหนีจากครอบครัวขณะอยู่ในคูเวต บินมายังไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย แต่ถูกทางการไทยกักตัว เธอปฏิเสธที่จะพบกับพ่อและพี่ชายที่บินมายังกรุงเทพฯ เพื่อรับตัวเธอกลับประเทศบ้านเกิด สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่เธอ และต่อมาแคนาดาออกวีซ่าให้เธอไปใช้ชีวิตที่นั่น

ในช่วงที่พำนักใ���ไทยในสัปดาห์ก่อน เธอทวีตข้อความเล่าเรื่องราวของตัวเอง โดยบอกว่า เธอกลัวที่จะถูกฆ่าหากถูกบังคับให้กลับบ้าน ทำให้เกิดกระแสรณรงค์ให้ช่วยชีวิตเธอ

เธอเล่ากับผู้สื่อข่าวของซีบีซีว่า ตอนนั้น เธอคาดว่าเจ้าหน้าที่จะบุกเข้าไปในห้องพักโรงแรมแล้วลักพาตัวเธอ เธอจึงเขียนจดหมายลาและตัดสินใจว่าก่อนถูกบังคับให้กลับบ้าน เธอจะจบชีวิตตัวเอง

ราฮาฟบอกเหตุผลที่หนีจากซาอุดีอาระเบียว่า เธอต้องการไปให้พ้นจากการกดขี่และความรู้สึกซึมเศร้า ต้องการเป็นอิสระ ถ้ายังอยู่ในประเทศต่อไป เธอจะแต่งงาน ทำงาน หรือเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ทั้งนั้นหากไม่ได้รับอนุญาตจากชายผู้คุ้มครอง

เธอบอกด้วยว่า ตัวเองคิดว่าจะมีผู้หญิงหนีออกจากซาอุดีอาระเบียมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อระบบชายผู้คุ้มครองถูกยกเลิกไป เธอหวังว่า เรื่องราวของเธอจะกระตุ้นให้ผู้หญิงคนอื่นๆมีความกล้าหาญและมีความคิดเสรี และหวังว่ากรณีของเธอจะผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎเกี่ยวกับการคุ้มครองของผู้ชาย

ทั้งนี้เมื่อวันอาทิตย์ ครอบครัวของเธอออกถ้อยแถลงระบุว่า ทางบ้านขอตัดขาดจากราฮาฟ ในเรื่องนี้ เจ้าตัวบอกว่า เธอรู้สึกผิดหวัง

เธอเล่าด้วยว่า ออสเตรเลียใช้เวลาพิจารณาคำขอลี้ภัยของเธอแบบไม่มีกำหนด ในขณะที่ทุกฝ่ายกังวลถึงความปลอดภัยของเธอ ดังนั้นยูเอ็นเอชซีอาร์จึงส่งเรื่องของเธอให้แคนาดาพิจารณา ซึ่งแคนาดาได้ออกวีซ่าให้ ดังนั้นการมาลี้ภัยในแคนาดาไม่ใช่เพราะเธอเลือกแคนาดาแทนออสเตรเลีย อย่างที่เจ้าหน้าที่ไทยกล่าวอ้าง ผู้เลือกคือยูเอ็น เธอแค่ต้องการไปประเทศที่สาม สิ่งที่เธอเลือกก็คือ ประเทศไหนก็ได้ที่จะปกป้องเธอ