ใบหน้าอิ่มเอม หนวดดำเข้ม แว่นตากรอบสีทอง เส้นผมขาวแซมดำปัดข้าง น้ำเสียงแหบแต่หนักแน่นทรงพลังเหมือนพวกมากอิทธิพลในภาพยนตร์คลาสสิค ทำให้ภายนอก ‘สมนึก ธนเดชากุล’ ดูโดดเด่น
ชายวัย 75 ปี อยู่ในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีมา 8 สมัย เเละตกเป็นที่พูดถึงผ่านหน้าสื่อทั่วประเทศ หลังออกไอเดียขอซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้ลูกบ้านตัวเองนับแสนคน โดยใช้งบประมาณส่วนท้องถิ่น
จากลูกชาวจีนอพยพที่ใฝ่ฝันอยากเป็นทหาร ถูกไล่ออกจากบ้านตั้งแต่ยังเด็ก ขับสามล้อส่งทุเรียน ถูกชักชวนให้ลงสนามการเมืองตั้งแต่ยังหนุ่ม และอยู่ยาวบนบัลลังก์ ต่อไปนี้คือเส้นทางและวิธีคิดของชายที่หลายคนเรียกเขาว่า “ป๋าเล็ก”
สมนึกเกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2488 พ่อแม่หอบเสื่อผืนหมอนใบล่องสำเภามาจากเมืองจีน เทียบท่าที่นนทบุรี สร้างตัวจากการค้าขายกาแฟเเละโชว์ห่วยจนสามารถเก็บหอมรอมริบเเละขยับขยายฐานะ ส่งเสียลูกๆ ทั้ง 8 คนเรียนหนังสือ แบ่งออกเป็น ชาย 5 หญิง 3 ‘สมนึก’ เป็นลูกคนที่ 4
“บ้านผมเป็นห้องแถวไม้เล็กๆ อยู่ด้วยกัน 10 คน เช้ามาพ่อแม่ก็ขายของ เย็นเราก็พากันทำความสะอาดพื้น เก็บโต๊ะเก้าอี้ แล้วปูเสื่อนอน ถึงตี 5 พ่อปลุกทุกคนตื่น วนเวียนอยู่อย่างนี้”
สมนึกเป็นเด็กโลดโผน เกเร มีเรื่องมีราวและชอบชกมวยเป็นชีวิต เขาขัดคำสั่งพ่อแอบหลบหนีออกจากบ้านไปฝึกซ้อมมวยเป็นประจำ จนวันหนึ่งพ่อทนไม่ไหว ประกาศไล่ลูกชายวัยแค่ 11 ปีออกจากบ้าน ทำให้ต้องไปขออาศัยอยู่กับเพื่อนที่สวนผลไม้ ช่วยเก็บทุเรียน ปีนต้นมะพร้าว ปั่นสามล้อ แบกแข่งเอาไปส่งขายตามตลาด แลกกับที่ซุกหัวนอน โดยมีคุณแม่แอบส่งเงินให้ใช้เป็นระยะ
“พ่อเป็นคนขยัน มานะ และดุมาก เฆี่ยนตีกระจาย(หัวเราะ) แต่แม่ไม่เลย ไม่เคยตีลูกสักคน แม่น่ารัก เป็นคนใจดีมาก” เขาเล่าว่าแม่มักทำกับข้าวเลี้ยงเพื่อนฝูงของลูกๆ เป็นประจำ หลายครั้งเด็กๆ กินกันจนเกลี้ยงหม้อ แม่ต้องออกไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกินเอง
สมนึกเรียนจบจากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม และโรงเรียนช่างก่อสร้างดุสิต
“ผมอยากเป็นทหาร แต่มีผู้ใหญ่ท่านห้ามเอาไว้ เห็นผมเกเรชอบต่อยมวย ซื้อนวมทำสนามมวยเอง เขากลัวจะไปกันใหญ่ เลยแนะนำให้เรียนก่อสร้าง”
ภายหลังเรียนจบ สมนึกเข้าทำงานเป็นลูกจ้างที่กรมชลประทาน ประจำแผนกศูนย์ซ่อมสร้าง ทำงานได้ 5-6 ปี ก็ถูกชักชวนให้เล่นการเมืองท้องถิ่น ปลุกความสนใจทางการเมืองที่มีอยู่แล้วในตัวเอง
“ผมชอบการเมือง มีช่วงหนึ่งไปสนามหลวงทุกวัน ไปเดินขบวนร่วมกับ ธีรยุทธ บุญมี ไล่จอมพลถนอม กิตติขจร” หนุ่มใหญ่ระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2516
ปี 2517 สมนึกในวัย 28 ปี เข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่นตามคำเชิญชวนของ บุญเยี่ยม โสภณ อดีต ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ ที่สนิทกันเพราะมวย โดยอีกฝ่ายเห็นแววจากความเป็นคนกว้างขวาง น้ำใจงาม ชอบช่วยเหลือดูแลผู้อื่นของสมนึก
“แกเห็นผมเป็นคนมีพรรคพวกเยอะ บางทีแกเอานักมวยมาฝากให้ผมเลี้ยง 20 คน ผมให้ที่พักที่หลับนอน เหมาร้านข้าวแกงให้เด็กๆ ไปกินกันแล้วสิ้นเดือนผมก็มาจ่ายเงิน”
สมนึกเข้าร่วมกลุ่มการเมืองที่ใช้ชื่อว่า ‘พลังหนุ่ม’ และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) บริหารงานเทศบาลนครนนทบุรี , ในปี 2521 สมนึกได้เป็นเทศมนตรี และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ครั้งแรกเมื่อปี 2527 ก่อนกุมบังเหียนยาวมาตลอด 8 สมัย
“ถูกชวนตอนแรกไม่แน่ใจ คิดว่าเราจะได้เหรอวะ เฮ้ยเราสู้ได้เหรอ แต่ผมได้เพราะบารมีของพ่อแม่ ผมเองหนุ่มๆ ไม่มีอะไร เป็นความดีของพ่อและแม่ ใจกว้างทำการค้าขายชอบช่วยเหลือคนอื่น จนเป็นที่รับรู้”
‘หนวด’ อันเป็นเอกลักษณ์ของสมนึกมีที่มาจากคำแนะนำของผู้ทำนายโชคชะตา
"หมอดูบอกว่าให้ผมไว้หนวดซะ จะมีบารมี ตอนนั้นอายุประมาณ 30 ปีได้" เขาหัวเราะเเละยืนยันว่า "นี่เรื่องจริงนะ”
จากประสบการณ์เกือบครึ่งศตวรรษในการเมืองท้องถิ่น สมนึกเชื่อว่ายิ่งกระจายอำนาจมากเท่าไหร่ ความเจริญจะยิ่งเติบโต
เขาเล่าว่า นนทบุรีผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มา 3 ครั้ง คือปี 2538 , 2549 และ 2554 ทุกครั้งเอาชนะมันด้วยความช่วยเหลือจากพี่น้องประชาชน ผ่านการตัดสินใจ การเจรจาพูดคุยอย่างจริงใจ
“มีครั้งหนึ่งน้ำจะเข้าท่วมพื้นที่นนทบุรีอยู่แล้ว ผู้คนโวยวาย ผมเสนอให้กรมชลฯ เพิ่มความสูงของเขื่อน แต่เขาบอกว่าต้องรอความเห็นจากท่านอธิบดีก่อนถึงจะตัดสินใจได้ ผมเองไม่เสียเวลารอ เพราะท่านอธิบดีต้องดูแลน้ำทั้งประเทศ และถ้าน้ำมันจะท่วม มันท่วมบ้านพวกเรา ไม่ใช่บ้านอธิบดี ผมสั่งเจ้าหน้าที่ไปซื้อเหล็กมาเลย สร้างแนวเขื่อนเพิ่มอีก 50 เซนติเมตร สุดท้ายน้ำท่วมเพิ่มขึ้นจริงๆ สูงกว่า 2 แมตร แต่เมืองนนท์ยังอยู่ได้ จนสุดท้ายเหตุการณ์คลี่คลาย กรมชลฯ ทำเรื่องยกประตูน้ำทั้งหมดให้เทศบาลดูแล”
ข้างต้นสมนึกบอกว่า เป็นตัวอย่างความสำคัญและประโยชน์จากการกระจายอำนาจ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น หลายปัญหาในภาวะวิกฤต เราไม่สามารถรอได้ โดยเฉพาะความล่าช้าที่เกิดจากเงื่อนไขและกฎระเบียบที่หยุมหยิม ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
“รัฐบาลเปรียบเสมือนพ่อและแม่ ถ้ารัฐบาลกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น แขนขาทุกอย่างทำงานได้หมด ความเจริญและการพัฒนามันจะเกิดขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราปลูกตะไคร้สักกระถาง พอมันขึ้นเต็มมันก็แน่นกันอยู่อย่างนั้น ถ้าเรามีหัวเทคนิค เราตัดตะไคร้นั้นแยกไปอีกกระถาง มันก็จะงอกงาม ผู้ที่ได้ประโยชน์คือพี่น้องประชาชน
“มีคนบอกว่ากระจายอำนาจแล้วจะเกิดการทุจริตในท้องถิ่น คำถามคือ เรามี สตง.ไว้เพื่ออะไร ตรวจสอบ ควบคุมดูแลกันไปสิ เราอย่าไปกลัว กระจายอำนาจไปเลย 4 ปี เลือกตั้งครั้งหนึ่ง ถ้าทุจริต ชาวบ้านเขาไม่เอาแล้ว สตง.ตรวจเจออยู่แล้ว
“เพราะงั้นต้องใจกว้างและมาดูกันว่า กระจายแล้วจะก้าวหน้าขนาดไหน” นายกเล็กเมืองนนท์บอกว่า ในอดีตผู้คนลำบากมาก กระทั่งมีการกระจายอำนาจ เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบต. , เทศบาล จนนำไปสู่การพัฒนา เพราะฉะนั้น “อย่าดูถูกคนท้องถิ่น”
ในเทศบาลนครนนทบุรี สมนึกได้กระจายอํานาจการบริหารจัดการไปสู่ชุมชน จัดตั้งชุมชนย่อยของเทศบาล จํานวน 93 ชุมชน ให้ประชาชนเลือกตั้งประธานชุมชนโดยตรงและทําการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น โดยอยู่ในรูปแบบความร่วมมือกันระหว่างเทศบาล ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ
“เวลาผมตั้งงบประมาณ ผมจะให้ชุมชนไปประชุมกันเองก่อนว่าต้องการอะไร แล้วก็นำเสนอโครงการมา เรียงลำดับความสำคัญมาเลย และเอามาให้สมาชิกดูว่าเขตไหนต้องการอะไร คัดเลือกและเข้าสภา ทำแบบนี้มาตลอดนับตั้งแต่ปี 31” สมนึกพูดย้ำความต้องการ ต้องสะท้อนจากคนในพื้นที่ซึ่งสัมผัสและเข้าใจตัวเองดีที่สุด
เมื่อเร็วๆ นี้ สมนึก เดินทางเข้าพบ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอขอจัดสรรงบประมาณ ราว 260 ล้านบาท ซื้อวัคซีนโควิด-19 ไปฉีดให้กับประชาชนในท้องถิ่นเอง โดยไม่พึ่งงบประมาณกลางของรัฐบาล
เทศบาลนครนนทบุรี มีเงินสะสมกว่า 4,000 ล้านบาท มีศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 5 แห่ง ทำให้สมนึกมั่นใจว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตัวเองได้
“ทำไมไข้หวัดนกระบาด ให้ อสม.ไปดูแล โรคซาร์ส ให้ อสม. ให้ชุมชนดูแลได้ หรือแม้แต่ไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้าระบาด ท้องถิ่นก็เป็นคนช่วยฉีดให้ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ควักเงินจากกระเป๋าซ้ายของท้องถิ่นไปอยู่กระเป๋าขวาของรัฐบาล ถือว่าเป็นเงินของประเทศไทยทั้งนั้น”
เขาบอกอยากให้คิดถึงประโยชน์เป็นตัวตั้ง มากกว่ากรอบที่กลายเป็นอุปสรรค โดยท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัด ให้ใช้วิธีบูรณาการกับ อบจ. และหน่วยงานส่วนกลางอื่นๆ
“ผมไม่ได้หาเสียงเพราะเราพูดเรื่องนี้ก่อนที่จะ ครม.จะประกาศวันเลือกตั้งซะอีก เราพูดตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.” เขายืนยัน
“ในวิกฤตต้องช่วยกัน คุณทำไม่ได้ ผมช่วยคุณทำ คนละไม้คนละมือดีกว่าไหมล่ะ มันไม่ใช่คนนอกคนใน แต่ที่นี่มันคือประเทศไทย
การเมืองท้องถิ่นกำลังถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่ โดยผู้นำหลายคนถูกตั้งคำถามถึงความมีอิทธิพล เป็นคนบ้านใหญ่ที่ผูกขาดอำนาจ และเต็มไปด้วยการอุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริต
สมนึกบอกว่า การเมืองภาพใหญ่แตกต่างจากการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีขอบเขตขนาดเล็ก ใกล้ชิดและเข้าถึงกับประชาชนมากกว่า ความสำเร็จของผู้นำขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของประชาชนมากกว่า ‘อิทธิพล’
“ไอ้บ้านใหญ่บ้านเล็กผมไม่เคยคำนึง คำนึงอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด
“ไม่เคยมองว่าเราเป็นขาใหญ่ขาเล็ก บ้านใหญ่บ้านเล็ก อันนั้นเป็นทัศนคติหนึ่ง เรายึดหลักความจริงว่า ทุกคนขันอาสามาดูแลทุกข์สุข สร้างความพึงพอใจให้กับพี่น้องประชาชน บ้านใหญ่บ้านเล็กไม่สำคัญ” เขาบอก “บ้านผมอยู่ตึกแถว”
นายกเทศมนตรี 8 สมัย เปรียบการเลือกตั้งเหมือนกีฬา แพ้ชนะกันได้ ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม และผู้ตัดสินต้องเป็นประชาชน
“การเลือกตั้งเหมือนแข่งมวย เราเป็นนักมวยมีคนมาท้าชิง คนที่ตัดสินคือพี่น้องประชาชน ตั้งแต่เด็กผมเล่นกีฬามาตลอด หัวใจของผมเป็นนักกีฬา ผู้ที่แข็งแรง ฉลาด มีความสามารถกว่าจะเป็นผู้ชนะ กรรมการอย่าได้เข้ามาช่วย” เขาบอกและว่า ‘รัฐประหาร’ ทุกครั้งมีผลกระทบต่อการเมืองและการเจริญเติบโตของท้องถิ่น
ในเกมกีฬา เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตนายใหญ่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยกล่าวว่า "การได้แชมป์ มันเป็นเรื่องยาก แต่การรักษาไว้นั้น ยากยิ่งกว่า" ซึ่งสมนึกเห็นด้วยดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘เกมการเมือง’ โดยเฉพาะระดับท้องถิ่นที่ต้อง ‘ใส่ใจ’ กับผู้คนมากเป็นพิเศษเพื่อรักษาแชมป์
“ทุกอย่างมันเกิดจากการทำตัวของเรานะ เป็นผู้แทนประชาชน เราต้องใส่ใจเขา ถ้าเราขาดการดูแลเอาใจใส่ ความผูกพันมันก็ไม่เกิดอย่างแท้จริง ทำแล้วให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจจริงๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเขาความทุกข์ร้อนของประชาชนมันเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องเจอ เมื่อขันอาสามาบำบัดทุกข์บำรุงสุข”
ในฐานะผู้นำ “ผมไม่ได้คิดแค่บ้านเมืองตัวเอง” สมนึกบอกเมื่อมีโอกาสไม่รีรอที่จะช่วยเหลือจังหวัดอื่นๆ ที่มีปัญหา เช่น หอมแดงที่ราคาตกต่ำของ จ.ศรีสะเกษ , สับปะรดห้วยมุ่น จ.อุตรดิตถ์ , กุ้ง จาก จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม โดยเทศบาลฯ นำมาช่วยขายให้กับคนนนท์
“ผมไม่ได้คะแนนเสียงเพราะพวกเขาเลือกผมไม่ได้ แต่ผมทำเพราะอยากจะช่วยคนที่ลำบาก ถ้าทุกอย่างต้องทำเพื่อคะแนน อย่างนั้นทำงานไม่ได้ คนพูด พูดยังไงก็ได้ แต่คนทำอะ ทำยังไง แล้วทำหรือเปล่านั่นสำคัญ”
สมนึกยังแจกพาหนะของเทศบาลนนท์ทั้ง รถน้ำ รถลอกท่อ รถปิ๊กอัพ หลังปลดประจำการ 10 ปีให้กับท้องถิ่นขนาดเล็กปีละกว่า 20 คัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบริหารภาระการซ่อมแซม
“คนถามว่าทำไมนายกฯ ไม่จำหน่ายไปละ รถยังดีอยู่เลย ผมบอกเฮ้ย…มึงซื้อรถใหม่เถอะ รถดีๆ ให้ท้องถิ่นที่ซื้อไม่ไหวไป รถเสียค่อยขายทิ้ง รถน้ำบ้านนอกสำคัญมาก ผมให้อมก๋อยไปปี 48 ผ่านมา 13 ปี ผมไปเที่ยวอมก๋อยปี 63 เขาพาเดินดูเลย บอก นายกฯ พวกเรายังใช้รถอยู่เลยนะ”
ในวัย 75 ปี สมนึกยังทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด ร่างกายแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่ว พูดจาฉะฉาน ความจำยังแม่น และดื่มแอลกอฮอล์ร่วมวงสังสรรค์ได้อยู่เสมอ
“ปกติผมนอนสามทุ่ม ตื่นตี 4 ทุกเช้าผมจะออกเดินวันละ 3 กิโล กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ใบสะเดา มะระขี้นก มื้อเย็นไม่กิน กินเฉพาะเพื่อนฝูงมาหา นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง ผมเป็นคนสบายๆ ทำแบบนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ ผมคิดว่าสุขภาพร่างกายสำคัญที่สุด เมื่อร่างกายแข็งแรง ความคิดก็จะดี มีพลัง”
ในบทบาทผู้นำท้องถิ่น 8 สมัย เขาขยายเขตเทศบาลนครนนทบุรี ในปี พ.ศ. 2531 เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่เพียง หนึ่งตําบล คือ สวนใหญ่ เป็นพื้นที่ 38.9 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตําบลในอําเภอเมือง ได้แก่ สวนใหญ่ บางเขน ตลาดขวัญ บางกระสอ และท่าทราย ทําให้นครนนทบุรี เป็นเทศบาลที่มีงบประมาณฯ และประชากรมากที่สุดในประเทศ คือ ประมาณ 267,000 คน ไม่รวมประชากรแฝงและแรงงานอพยพจากที่อื่น ที่คาดว่ามีมากกว่า 200,000 คน และไม่นับกรุงเทพฯ และพัทยา
แม้จะผ่านประสบการณ์มากมายกับช่วงเวลาในตำเเหน่งอันยาวนานแต่สมนึกบอกว่าเขายัง "ท้าทาย" และพร้อมลงชิงตำแหน่งต่อ หลังจากคณะรัฐมนตรีประกาศวันเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน มี.ค. 2564
ต่างๆ นานา
เรื่อง : วรรณโชค ไชยสะอาด
ภาพ : วิทวัส มณีจักร , สราวุฒิ โตสมบัติ