ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ หรือ ป้อง ดารานักแสดง ในฐานะทูตด้านฉลามขององค์กรไวด์เอด และพันธมิตรองค์กรอนุรักษ์ 8 องค์กร ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความร่วมมือรัฐบาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปกป้องฉลาม ด้วยการ "ฉลองไม่ฉลาม" เลิกเสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐบาลทุกรูปแบบ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ในงานเลี้ยงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา มีเมนู 'ซุปหูฉลาม' อยู่ในรายการอาหารด้วย
ทั้งนี้ ฉลามมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และบางสายพันธุ์ยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในแต่ละปีมีฉลาม ประมาณ 73 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อนำไปทำซุปหูฉลาม และ 15 ปีที่ผ่านมา ประชากรฉลามบางสายพันธุ์ลดลงมากกว่าร้อยละ 90-98 ส่วนผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามขององค์กรไวด์เอดในปี 2560 พบว่า ประเทศไทยเป็นตลาดผู้บริโภคหูฉลามที่สำคัญ และกว่าร้อยละ 57 ของคนไทยในเขตเมืองเคยบริโภคหูฉลาม
และที่น่าห่วงกว่า คือ ร้อยละ 61 มีความต้องการที่จะบริโภคหูฉลามในอนาคต
ป้อง ณวัฒน์ ในฐานะทูตด้านฉลามขององค์กรไวล์ดเอด เผย อยากให้ภาครัฐให้ความร่วมมือ ในฐานะดำรงตำแหน่งทูต มา 2 ปี ได้รับรู้เรื่องราว การบริโภคหูฉลาม จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศของโลกอย่างไร ไม่อยากให้การโพสต์ลงโซเชียลเป็นกระแสแล้วหายไป การมายื่นจดหมายครั้งนี้อยากให้มีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ลด ละ เลิก สอดคล้องกับการรณรงค์ "ฉลองไม่ฉลาม" และมองว่า ถ้ารัฐบาลเป็นตัวอย่างที่ดี ช่วยรณรงค์ จะทำให้อัตราการบริโภคหูฉลามลดลงอย่างที่ตั้งใจได้
“ก่อนอื่นต้องบอกว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองนะครับ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล แล้วจัดงานเลี้ยงโดยใช้หูฉลาม ผมคงต้องออกมาท้วงอยู่แล้ว บ้านเราไม่มีกฏหมาย อย่าง แคนาดา เขาห้ามนำเข้าส่งออกครีบหูฉลาม อย่าง รัฐบาลจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ในงานเลี้ยงรัฐบาล จะไม่มีการนำหูฉลามขึ้นโต๊ะ เราก็รู้สึกว่า รู้สึกผิดหวัง สิ่งที่มาวันนี้คือต้องการมาขอความร่วมมือ มาโน้มน้าวจิตใจคน ให้เห็นความสำคัญของฉลาม บางคนบอกทำไมไม่ไปรณรงค์ ไม่ให้ กินหมู กินวัว กินไก่ ซึ่งอันนั้นอาจจะหลงประเด็น ผมมาไม่ได้พูดเรื่องศีลธรรม เพราะผมก็ไม่ได้เป็นมังสวิรัตินะครับ ผมยังทานเนื้อ ทานหมู ทานไก่ แต่มาในเรื่องของการรักษาระบบนิเวศ คือ ฉลาม เป็นสัตว์ที่อยู่บบนห่วงโซ่อาหาร เหมือนสิงโต เหมือนเสือ ถ้าไม่มีฉลามแน่ๆ นะครับ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งระบบนิเวศในทะเล ศีลธรรมก็เป็นส่วนหนึ่ง ฉลามที่ถูกตัดครีบ ตายอย่างทรมาน ถ้าเห็นแล้วสงสารนำไปสู่การงดรับประทานก็ดี แต่ประเด็นคือ เรามาพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศใต้ทะเล ไม่ได้เกี่ยวกับว่าศีลธรรม"
สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า องค์กรอนุรักษ์ทั้ง 9 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรไวล์ดเอด , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, กรีนพีซ ประเทศไทย, กลุ่มเนเจอร์เพลิน, องค์กรชาร์ค การ์เดี้ยน, มูลนิธิรักสัตว์ป่า, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย แมนตา ทรัสต์ (ประเทศไทย) และมูลนิธิฟรีแลนด์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การเสิร์ฟหูฉลาม เป็นตัวอย่างของการสนับสนุนการบริโภคเมนูจากสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งการบริโภคเป็น 1 ในภัยคุกคาม หลักประการสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามโลกมีจำนวนลดลง บางสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศในทะเล
ในปี พ.ศ.2560 ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลาม โดย องค์กรไวล์ดเอด ระบุว่า ไทยเป็นตลาดผู้บริโภคหูฉลามที่สำคัญ โดยเขตเมืองทั่วประเทศ ร้อยละ 57 เคยบริโภคหูฉลาม และร้อยละ 61 ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต ซึ่งคนไทยบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ อย่าง งานแต่งงาน ร้อยละ 72 งานรวมญาติ ร้อยละ 61 และ งานเลี้ยงธุรกิจ ร้อยละ 47
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :