ไม่พบผลการค้นหา
มือกฎหมายแห่ง ‘พลังประชารัฐ’ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ วิเคราะห์เส้นทางอนาคต ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับการเผชิญมรสุมการเมืองท้ายเทอม

ยิ่งใกล้ปิดเทอมวาระ 4 ปีหลังการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 กลับยิ่งหนักใจ! เพระสรัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหลือเวลาอีกไม่นานแม้จะขอเวลามานานแล้วก็ตาม

แต่ทว่าท้ายเทอมสุดท้าย ปีที่ 4 ของรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารกลับเจอแต่ปัญหาจ่อคิวถาโถมเข้าใส่ไม่ยั้ง

ทั่งศึกนอกศึกใน อาทิ ปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล การเตรียมรับมือศึกซักฟอกในปีสุดท้าย รวมไปถึงตีความคุณสมบัตินายกรัญมนตรี ที่กติกาตามรัฐธรรมนูญ ห้ามนั่งอยู่ในวาระ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ว่าจะติดต่อหรือไม่ก็ตาม ทำให้ยังเป็นข้อถกเถียงว่าเริ่มนับเมื่อไหร่หรืออาจต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญแม้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ประชาชนและคนการเมืองต่างจับจ้องว่า อนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะเป็นอย่างไร

ไพบูลย์.jpg

“วอยซ์” ได้พูดคุยกับมือกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ เพื่อประเมินถึงเส้นทางอนาคตของนายกฯ คนปัจจุบัน ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรืออาการโคม่าในท้ายเทอมและยกธงขาวเร็วขึ้นหรือไม่

  • การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ - ครม. จะผ่านฉลุยหรือไม่

ศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจากฝ่ายค้านที่กำลังเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ไพบูลย์ ประเมินว่าจะมีขึ้นช่วงเดือน ส.ค.นี้ ตนมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ รัฐมนตรีทุกพรรคทุกคนสามารถผ่านไปได้สบายๆ เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถดูแลเสียงซีกฝั่งรัฐบาลให้สนับสนุนนายกฯ ได้แบบสบายๆ ประกอบกับรัฐมนตรีทุกคนตอบคำถามชี้แจงประเด็นต่างๆ ได้หมด

ขณะที่สถานการณ์เสียงสวิงโหวตจากพรรคเล็กและ ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย แกนนำ เชื่อว่า เมื่อถึงเวลาเรียบร้อยไม่มีปัญหาเพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

“พรรคเล็กไม่ได้หมายความทุกพรรค แต่พรรคเศรษฐกิจไทยนี่มั่นใจ และเท่าที่รับทราบมาไม่มีอะไร เป็นเรื่องปกติระยะก่อนการอภิปรายอาจมีกระแส (ปัญหาในพรรคร่วม) อย่างนี้มาบ้างเท่านั้น”

มือกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ อธิบายเพิ่มเติมถึงการที่ฝ่ายค้านจะไม่มีโอกาสคว่ำนายกฯ และรัฐมนตรีลงได้กลางสภาผู้แทนราษฎร ว่า นี่เข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีต่างมีพัฒนาการจากการถูกอภิปรายมาหลายครั้งตอบคำถามในสภาอยู่บ่อยๆ ขณะที่ฝ่ายค้านตนมองว่าไม่มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจหรือสำคัญที่จะมาทำให้รัฐบาลมีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็คอยระมัดระวังไม่ให้มีการกระทำผิดอยู่แล้ว ส่วนเสียงโหวตตามรัฐธรรมนูญที่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ กำหนดไว้ว่าจะมีผลนับเฉพาะเสียงที่เห็นด้วยกับญัตติ ส่วนที่ไม่ไว้วางใจต้องมีเสียงเกินกึงหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มี ปัจจุบันมี 477 เสียง กึ่งหนึ่งคือ 239 ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ต้องกดแสดงตนว่าเห็นด้วยเท่านั้น แต่ตอนนี้ฝ่ายค้านมีอยู่ราว 208 ที่เหลือรัฐบาลหมด คิดว่าเมื่อถึงเวลาการอภิปรายจริง อาจจะมีคนลาคนป่วยและทำให้ไม่สามารถดึงเสียงฝ่ายรัฐบาลได้อยู่แล้ว

ไพบูลย์ นิติตะวัน  -47ED-4AF5-8F43-E9C606328272.jpeg
  • พล.อ.ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ได้ถึงปี 70 ครองเก้าอี้ผู้นำ 13 ปี

ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่มีข้อกำหนดห้ามรัฐมนตรีเป็นเกิน 8 ปีที่กำลังเป็นข้อถกเถียงนั้น ชัดเจนอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่าใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในมาตรานั้นๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนที่มาของนายกฯ ไว้ในวรรคสอง นายกฯ ต้องเลือกในที่ประชุมสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือมาจากบัญชีรายชื่อพรรคที่มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นเรื่องการห้ามดำรงตำแหน่ง 8 ปี หลักกฎหมายไม่ได้เขียนไว้เป็นอื่น ก็แสดงว่ากรณีนี้นายกฯ ที่มาจากการเลือกของสภาฯ จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ดังนั้นระยะ 8 ปี ต้องนับจากวันที่นายกฯ ได้รับเลือกจากสภา หลังการเลือกตั้งปี 2562 เพราะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ

“เริ่มจากวันที่ได้รับเลือกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ประกอบมาตรา 159 คือเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนี้ นับตั้งแต่ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคือเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี พ.ศ. 2570”

มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความชอบธรรม เพราะมาตามรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยสมัยนี้ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่มาออกเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งกว่า 8 ล้านคน จึงถือว่ามีความชอบธรรมเพราะเป็นเสียงประชาชนอย่างแท้จริง และได้เสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว.อีกด้วย จึงเชื่อมั่นว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังคงจะชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯอันดับหนึ่งของพรรคแน่นอน แต่จะเป็นคนเดียวหรือไม่ยังไม่ทราบต้องรอดู แต่โดยหลักการตามรัฐธรรมนูญเป็นธรรมดาที่แต่ละพรรคสามารถเสนอได้ 3 รายชื่อ หากเป็นกรณีทั่วไปไม่มีอะไรพิเศษก็จะเสนอครบ 3 แต่จะเสนอเพียง 2 หรือ 1 ชื่อก็สามารถทำได้

ประยุทธ์ ประชุมสภา งบประมาณ  -C541-468B-88B5-ED574BFA9B40.jpeg

สำหรับคุณสมบัติที่ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยได้ ในสายตาของรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะนายกฯ เป็นคนขยัน ตั้งใจทำงาน มีความสามารถในการเลือกใช้บุคลากรที่หลากหลาย ตัดสินใจได้ดีและรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งเห็นได้จากเมื่อถูกทักท้วงหลายครั้งรู้จักหยุด รู้จักถอย รู้จักรุก แม้บางช่วงอาจถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีหนักบ้างแต่ก็ถือว่าเป็นธรรมดาในการเมือง

“ผมมั่นใจ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 และได้รับเสียงจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. ส.ว.เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ”

ขณะที่ความเหมาะสมของ พล.อ.ประวิตร ต่อการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ไพบูลย์ มองว่า ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ซึ่งมีความสามารถเหมาะสมทุกประการ เพราะมีคุณสมบัติเสมือนผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ๆ อาทิ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่ถึงอย่างไรที่ผ่านมารองนายกฯ มักย้ำเสมอถึงอย่างไรก็สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ใครเหมาะสมเป็นนายกฯ มากกว่ากัน คิดว่าไม่สามารถเอาความเห็นส่วนตัวได้ เพราะสุดท้ายต้องขึ้นอยู่ที่เสียงสมาชิกรัฐสภา

ประวิตร นายกรัฐมนตรี ประชุมสภา -F223-490B-B2CD-3AD3008F4746.jpeg
  • มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบเทอม - พลังประชารัฐ นำตั้งรัฐบาลต่อ เพื่อไทย ยังเป็นฝ่ายค้าน

สำหรับสถานการณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ช่วงท้ายเทอมนี้ ไพบูลย์ มั่นใจว่าถึงอย่างไรก็จะอยู่ถึงวันที่ 24 มี.ค. 2566 ทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และคณะรัฐมนตรี เพราะถ้าหากถูกร้องให้ศาลตีความเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ จริง คาดว่ายื่นได้ก็จะเป็นช่วงปลายเดือน ส.ค. นี้ และตามหลักปกติกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาจบใช้เวลาราว 5-6 เดือน และกว่าจะอ่านคำวินิจฉัยได้น่าจะอยู่ช่วงเดือนมี.ค. 2566 พอดี ซึ่งรัฐบาลก็ครบเทอมแล้ว ส่วนอนาคตรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ มองว่าอย่างไรยังคงเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกสมัย

“พรรคพลังประชารัฐ ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัย ส่วนพรรคเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายค้านต่อแน่นอน มั่นใจ เพราะเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มายังไง คิดว่า 180 คนอย่างมากแม้รวมพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ดังนั้นจึงคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนพรรคเพื่อไทยให้กลายเป็นแกนนำรัฐบาลได้ต้องเป็นฝ่ายค้านต่อ เพราะการโหวตคราวหน้ายังเป็นการโหวตในที่ประชุมร่วม ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งพรรคเพื่อไทยด่า ส.ว.ไว้เยอะ ผมก็คิดว่าเขาคงไม่ไปยกมือให้คนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยแน่”