เหตุการณ์ 6 ตุลาถึงปัจจุบัน ไทยได้บทเรียนอะไรจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง
ความเห็นต่างทางการเมืองในสังคมไทย เคยสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงในวงกว้างมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความรุนแรง สร้างความสูญเสีย และสร้างบาดแผลที่ร้าวลึกในความทรงจำของคนในสังคมจำนวนมาก
ความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง ยังคงสร้างผลกระทบด้านลบ อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่แบ่งแยกฝักฝ่าย / ความเป็นคนดี-เลว / ความถูก-ผิด ที่ล้วนแต่ถูกนำเสนอให้เห็นแค่มุมเดียว หรือ ทำให้ฝั่งตนเองเป็นผู้ชนะ มาจนถึงการผูกขาดความถูกต้อง และการปั่นกระแสให้กดข่ม และหมิ่นเหยียดอีกฝ่ายที่เห็นต่างกัน
ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ได้ขยายมาสู่จุดที่คลื่นความรุนแรงทางความคิดแทรกเข้าไปในทุกพื้นที่ ปะทะกันในหลายช่องทาง แม้จะไม่ได้ใช้อาวุธประหัตประหารกัน แต่ก็สร้างความเกลียดชัง และต้องการเอาชนะอีกฝ่าย จนไม่เห็นคุณค่าความเป็นคนของกันและกัน มิหนำซ้ำ ความแตกต่างทางความคิดยังขยายมาถึงการสร้างความเกลียดชังในเวทีสื่อมวลชน สังคมออนไลน์ หรือในเวทีรัฐสภา
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เราตระหนักไหมว่าความรุนแรงยังคงมีอยู่ในสังคมไทย แต่เปลี่ยนรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เป็นพลวัตร และมีอำนาจในการเอาชนะด้วยการด้อยค่ากัน โดยมุ่งผลแค่ว่า “ต้องชนะ” แต่ไม่สนใจว่าหน่อความรุนแรงกำลังขยายตัวมากขึ้นทุกขณะ และทำให้สังคมไทยเราแตกร้าวมากขึ้น
ผมมีความหวังว่าเราทุกคนในสังคมไทย ควรร่วมกันรับผิดชอบ ทบทวน และศึกษาความรุนแรงที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบไป และควรตั้งคำถามต่อไปว่า เราควรรับมือกับความเห็นต่างทางการเมืองอย่างไร ? ทั้งในสถานะประชาชน สื่อมวลชน นักการเมือง เพื่อนของใครสักคน หรือ หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง
ถึงแม้เราจะไม่เห็นผู้สูญเสียเป็นตัวตนอย่างชัดเจนเหมือนเหตุการณ์ ณ 6 ตุลา 19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความรุนแรงที่แฝงฝังและทำร้ายกันและกันอยู่จริง
ดังนั้น การทะลายวงล้อมของความรุนแรงรูปแบบนี้ไม่ใช่การจัดการที่ง่ายในระยะสั้น ขึ้นกับความกล้าของเราที่จะยอมรับว่าสังคมไทยจะเกิดอะไรต่อไปในระยะยาว หากยังเพาะปลูกกระแสความรุนแรงจากความคิดที่เห็นต่างให้เติบโตเป็นอาวุธที่ทำลายกันอยู่ในสังคมเวลานี้
ภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
6 ตุลาคม 2567