นำโดย พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพล ทบ. พร้อมเด้ง พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. ในฐานะนายสนามมวยเวทีลุมพินี และผู้เกี่ยวข้องผู้รับผิดชอบสนามมวย มาช่วยราชการที่ บก.ทบ. กว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลการสอบสวนออกมาอย่างเป็นทางการจาก ทบ. อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ไม่ออกสื่อทำงานเงียบๆ ในรั้ว บก.ทบ. เพื่อสู้กับ ‘โควิด-19’ ทั้งในการป้องกันในและนอกรั้วทหาร
รวมทั้งเหตุการณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังมีเหตุชุลมุนเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา จนรุ่งเช้าต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม มอบ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. นำประชุมที่ ทำเนียบฯ จนได้ข้อสรุปให้ 158 คนไทย มารายงานตัวที่ศูนย์อีโอซีสนามบินสุวรรณภูมิ และศูนย์ดำรงธรรมในต่างจังหวัดเพื่อเข้าสู่ระบบการ State Quarantine ระยะ 14 วัน โดยขีดเส้นให้มารายงานตัวก่อน 6 โมงเย็น ซึ่งในที่ประชุมได้ทำการ ‘ผ่าตัดใหญ่’ ศูนย์อีโอซี ไปในตัวด้วย
โดยตั้ง พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เข้ากำกับดูแลศูนย์อีโอซี ที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง
พร้อมกันนี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้มอบให้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม รองเสนาธิการทหาร รับผิดชอบการนำ 158 คนไทยมารายงานตัวจนครบถ้วน
แต่ครั้งนี้ตำบลกระสุนตกมาที่กระทรวงกลาโหม หลังมีคำสั่งเรียก 2 นายทหารในเหตุการณ์ ได้แก่ พล.ต.โกศล ชูใจ และ นาวาอากาศเอก ที่ปรากฏในคลิป พร้อมทีมงานกลับจากการปฏิบัติหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา โดยเฉพาะกรณีของ ‘นาวาอากาศเอก’ ที่แจ้งกับคนไทยในสนามบินว่า ‘ผู้ใหญ่’ อนุญาตให้กลับบ้านได้ จนทำให้สถานการณ์ต่างๆบานปลาย
ซึ่งในส่วนของ ‘นาวาอากาศเอก’ แม้จะสังกัด บก.กองทัพไทย แต่ได้มาช่วยราชการที่กระทรวงกลาโหม และเป็นทีมงาน พล.ต.โกศล จึงถูกทาง ก.กลาโหม สอบสวนด้วย ซึ่งผ่านมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ก็ยังไม่มีผลการสอบสวนออกมาอย่างเป็นทางการ
การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผ่านมา 2 สัปดาห์ และการประกาศเคอร์ฟิวช่วง 4 ทุ่ม ถึงตี 4 เกือบ 1 สัปดาห์แล้ว โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้ตั้ง ‘วอร์รูม’ ขึ้นมา โดยให้กรมยุทธการ ทบ. ออกเป็นคำสั่งในการปฏิบัติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในฝ่ายทหารแต่ละทัพภาค มีบทบาทในการประสานกับจังหวัด ในการออกปฏิบัติงาน ครอบคลุมถึงการจัดทำแผนที่ในห้องวอร์รูม
โดยล่าสุด ‘บิ๊กตู่’ ยืนยันไม่ขยายเวลา ‘เคอร์ฟิว’ หรือเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ยังคงยึดตามประกาศเดิม โดยเป็นห่วงคน 4 ประเภท 1.คนแก่อยู่ตามลำพัง 2.คนป่วยติดเตียง 3.คนพิการ 4.คนหาเช้ากินค่ำ
ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทหารต้องออกจากค่ายมาปฏิบัติภารกิจในฐานะ ‘ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน’ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ห่วงการปฏิบัติงานของกำลังพลเกรงจะตกเป็นเป้านิ่ง เกิดดราม่าในโซเชียลฯ เช่น ชุดตรวจ-สายตรวจ จึงให้กรมยุทธศึกษาทหารบก จัดทำข้อแนะนำในการปฏิบัติ และให้กำลังพลนำติดตัว โดยใส่ในกระเป๋าไว้ทุกคน พร้อมให้หัวหน้าชุดทำการชี้แจงกำลังพลก่อนออกปฏิบัติงาน
ส่วนที่ตั้งจุดตรวจโรคโควิด-19 ได้กำชับ ‘สารวัตรทหาร’ ที่เป็นเจ้าพนักงานช่วยเหลือ ให้มีทำการฝึกอบรมก่อนออกปฏิบัติงาน โดยใช้กำลังในแถวที่ 2 คือใช้กำลังพลในส่วนสนับสนุนการรบใน อัตราส่วน 2:1 คือนายทหาร - นายสิบ 2 ส่วน และ พลทหาร 1 ส่วน
แต่สิ่งที่ถูกตับตาคือการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เมื่อวันที่ 8เม.ย.ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงข้อสั่งการ พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. ที่ให้แม่ทัพภาค ,ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (ผบ.มทบ.) , รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในทัพภาค (รอง ผอ.กอ.รมน.ฝ่ายทหาร) สามารถใช้ สัสดีจังหวัด , สัสดีอำเภอ ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติได้ โดยเรื่องที่มีการกล่าวในที่ประชุม คือ การตรวจสอบการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยของรัฐบาล
โดยเฉพาะตรวจสอบการส่งมอบหน้ากาก N95 ตามโรงพยาบาลต่างๆ หลังมีหน้ากาก N95 มาจากประเทศสิงคโปร์ 2 แสนชิ้น เพื่อนำแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ให้ รองผอ.กอ.รมน.ฝ่ายทหาร หรือสัสดีในพื้นที่ บันทึกภาพถ่ายในการส่งมอบของโรงพยาบาลที่ได้รับ เพื่อจะยืนยันว่ามีการใช้จริง ซึ่งเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นการให้ ‘ทหารจับผิด’ หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์’ ตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ซึ่งงานนี้เท่ากับเป็นการ ‘หักหน้า’ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หรือไม่
มาพร้อมกับกระแสกดดันให้ ส.ว. เสียสละเงินเดือนมาช่วย ‘โควิด-19’
แต่ครั้งนี้ ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ไม่ตกเป็นเป้าเช่นที่ผ่านมา เพราะเมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพได้ทำเรื่องถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อของดการรับเงินเดือน และเงินต่างๆในฐานะวุฒิสมาชิก และผู้ช่วยผู้ดำเนินงาน ส.ว. นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ไปจนถึงเกษียณฯ พร้อมคืนเงินให้หลวงสำหรับเงินเดือนที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ ช่วง พ.ค. 2562-ม.ค.2563 โดย ผบ.เหล่าทัพ ย้ำว่าเป็นความตั้งใจร่วมกัน เพราะไม่ต้องการรับเงินสองทาง
รวมทั้งล่าสุด ‘กลาโหม’ ได้สั่งการไปยังเหล่าทัพ พิจารณาการชะลอการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในบางรายการออกไป
แต่จะต้องไม่กระทบกับภารกิจของกองทัพ รวมทั้งไม่กระทบสัญญาระหว่างประเทศที่ได้ลงนามไว้พร้อมกับปรับลดงบทหารปี2563-2564เพื่อนำเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยประชาชนจากพิษโควิด-19
โดยงบประมาณกลาโหมปี 2563 ได้รับการจัดสรรงบฯ ราว 2.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประจำ 70 เปอร์เซ็นต์ และงบลงทุน 30 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะงบประจำ ประกอบด้วย เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง การประชุม สัมมนา ดูงานต่างประเทศ แผนการฝึกศึกษาประจำปี ในส่วนนี้อาจมีการยกเลิกการดูงานต่างประเทศ การสัมมนาบางรายการ รวมทั้งปรับแผนหรือลดขนาดการฝึกลง
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ิ พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. ได้สั่งการ ผบ.หน่วย ให้เตรียมรับสถานการณ์งบประมาณประจำปีอาจจะถูกตัดงบประมาณอีก 10 เปอร์เซ็นต์ หลังมีการประเมินสถานการณ์พิษโควิดจะกระทบเศรษฐกิจ 2-3 ปี
ชี้ให้เห็นว่า แม้กองทัพจะป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเป้า แต่ก็ไม่สามารถที่จะคุมได้เสียหมด
ยิ่งในสถานการณ์ที่ทหารต้องออกมานอกค่ายในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงต้องกำชับระเบียบการปฏิบัติงานและวินัยทหารที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อไม่ให้กองทัพมีเรื่องให้ถูกครหาไปมากกว่านี้
เพราะเรื่องในอดีตก็ยังเคลียร์ไม่จบ แต่กลับมี ‘บทบาท-ภาระ’ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ได้สะเทือนแค่ ผบ.เหล่าทัพ แต่สะเทือนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยเช่นกัน ทั้งในฐานะ ‘นายกฯทหาร’ และ รมว.กลาโหม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง