วันที่ 17 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงขั้นตอนภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวาระลับเห็นชอบกู้เงิน 1.5 แสนล้าน ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้และกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ว่า "ก็มันเป็นวาระลับอะครับ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมไม่ออก พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย สุพัฒนพงษ์ ระบุว่า มันก็ต้องออก พ.ร.บ.อยู่ดีในกรณีภาษีลาภลอย ซึ่งตอนนี้เราก็เสนอหลายๆวิธี แต่ถ้าไม่ผ่านก็กลับมาใช้ พ.ร.ก.นี้
เมื่อถามย้ำว่า วงเงินที่ใช้ออก พ.ร.ก. 1.5 แสนล้านใช่หรือไม่ สุพัฒนพงษ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว
ขณะที่เมื่อวันที่ 16 ส.ค. กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว! วันนี้รัฐบาลมีวาระในที่ประชุม ครม.ให้ ออก "พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน 150,000 ล้านบาท"
ความหมายคือ สุดท้ายรัฐบาลเลือกที่จะแก้ปัญหากองทุนน้ำมันขาดสภาพคล่องด้วยการ 'โยนภาระหนี้ให้ประชาชน' แทนที่จะบริหารต้นเหตุที่ทำให้ราคานํ้ามันแพงเกินควร
กองทุนนํ้ามันเป็นหนี้ เพราะนํ้ามันแพง นํ้ามันแพงก็เพราะค่าการกลั่นและค่าการตลาดสูงเกินไป จึงส่งผลให้บริษัทนํ้ามันกำไรเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 10 เท่า หรือ 1,000%
พรรคกล้า ได้เสนอให้เก็บภาษีลาภลอย นำเงินภาษีมาลดหนี้กองทุนนํ้ามัน และให้รัฐบาลกำกับ ’ค่าการกลั่น’ และ ‘ค่าการตลาด’ ให้เป็นธรรม
โดยก่อนนี้ รัฐมนตรีพลังงานบอกว่าจะไปเค้นกำไรจากโรงกลั่นมาช่วยลดภาระหนี้ 24,000 ล้านบาทแต่สรุปไม่ได้มาแม้แต่บาทเดียว จนวันนี้ต้องเอาเงินภาษีไปค้ำหนี้ที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน
เดิมทีกฎหมายจำกัดหนี้กองทุนน้ำมันไว้ที่ 20,000 ล้านบาท แต่เมื่อต้นปีรัฐบาลได้มีมติรื้อเพดานออกหมด เพื่อใช้วิธี ‘สร้างหนี้’ แทนที่จะบริหารจัดการโครงสร้างการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน
น่าผิดหวังมากครับ ! วันนี้รัฐบาลได้เปิดช่องทางใหม่ในการสร้างหนี้นอกระบบงบประมาณ สวนทางกับหลักวินัยทางการคลังที่รัฐบาลพูดมาตลอด และที่น่าสังเกตคือเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานเป็นคนชง กระทรวงการคลังคงกระดากปากที่จะเป็นผู้เสนอ แต่ก็ไม่แข็งพอที่จะทักท้วง จนการบริหารเศรษฐกิจของทั้งคณะอ่อนปวกเปียกไปหมด