นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 3 ก.ค.นี้ เตรียมลงพื้นที่ติดตามและผลักดันการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา โดยจะไปตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกและแหล่งผลิต "น้อยหน่าเพชรปากช่อง" สวนน้อยหน่าเพชรปากช่อง ผู้ใหญ่สมัย บ้านหนองตาแก้ว ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีโอกาสที่จะได้รับการขึ้นทะเบียน GI เพราะถือเป็นของดีของชุมชนและมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากน้อยหนาของที่อื่น
ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับจังหวัด เกษตรกร ผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับน้อยหน่าเพชรปากช่อง และช่วยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการที่ปลูกน้อยหน่า มีรายได้เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจในระดับพื้นที่มีการขับเคลื่อนมากขึ้น
ทั้งนี้ น้อยหน่าเพชรปากช่องเป็นพันธุ์ผสมระหว่างเซริมัวย่า (Cherimoya) พันธุ์หนังครั่ง และพันธุ์หนังเขียว ลักษณะ ผลเป็นรูปหัวใจ ผิวค่อนข้างเรียบ ร่องตาตื้นคล้ายน้อยหน่าหนัง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวอ่อนถึงขาวนวล ผลไม่แตกเมื่อแก่ เปลือกบางลอกออกจากเนื้อได้เมื่อสุกจัด เนื้อเหนียวคล้ายน้อยหน่าหนัง มีการปลูกมากในพื้นที่อำเภอปากช่อง โดยบริเวณนี้มีสภาพดินแดงหรือดินชุดปากช่อง เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องมากที่สุด ผลผลิตที่ออกมาจะมีขนาดใหญ่ มีเนื้อมาก เมล็ดเล็กและรสชาติหวานจัด มีฤดูกาลผลผลิตตลอดทั้งปี ราคาขาย 50–70 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังมีแผนที่จะผลักดันขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ๆ ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศได้รายงานรายการสินค้าที่มีโอกาสผลักดันขึ้นทะเบียน GI แล้ว 147 รายการ จาก 50 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้ ผ้าไหม เกษตรแปรรูป หัตถกรรม เครื่องจักรสาน เป็นต้น ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังจะส่งทีมลงพื้นที่ไปประชุมหารือร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว
ทั้งนี้ เบื้องต้นมีสินค้าเป้าหมาย 7 สินค้า จาก 6 จังหวัด ที่จะผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน GI ลำดับต้น ๆ ได้แก่ ผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา, พุทราบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์, มะม่วงหนองแซง และเผือกหอมบ้านหอม จังหวัดสระบุรี, มังคุดคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช, มันแกวบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และพริกไทยปะเหลียน จังหวัดตรัง และตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ มีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว จำนวน 143 สินค้า เป็น GI ไทย จำนวน 126 สินค้า และ GI ต่างประเทศ จำนวน 17 สินค้าเป็นต้น