ไม่พบผลการค้นหา
ไต้หวันออกพาสปอร์ตใหม่ แสดงความเป็นรัฐอธิปไตยมากขึ้น ป้องกันนานาชาติสับสนเป็น 'จีนแผ่นดินใหญ่'

'ไต้หวัน' หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'สาธารณรัฐจีน' ได้เปิดตัวหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ 11 ม.ค. นี้เป็นต้นไป โดยหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้ได้ปรับลดขนาดของคำว่า "Republic of China" หรือ "สาธารณรัฐจีน" ให้มีขนาดเล็กลงและอยู่รายล้อมตราแผ่นดิน "ตะวันฉาย" โดยให้คำว่า "ไต้หวัน" เป็นตัวหนาและมีขนาดใหญ่เด่นชัดขึ้นแทน

รัฐบาลไต้หวันให้เหตุผลว่า เหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพาสปอร์ตใหม่เนื่องจาก ช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดความสับสนในพลเมืองไต้หวันบางรายที่ถือหนังสือเดินทางไต้หวันฉบับเก่า ซึ่งมีคำว่า "สาธารณรัฐจีน" แต่ถูกต่างชาติห้ามพลเมืองไต้หวันเข้าประเทศเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน

สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่การทูตไต้หวันที่เผยว่า พลเมืองหลายคนได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม รวมถึงถูกเพ่งเล็งตรวจสอบและโดนคำพูดเหยียดผิว เพียงเพราะนานาชาติเข้าใจว่าพวกเขาเป็นพลเมืองสัญชาติจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนนี้รัฐบาลไต้หวันจึงตัดสินใจเปลี่ยนหนังสือเดินทางให้พ้นจากความเป็นจีนมากขึ้น

โจเซฟ หวู่ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า หนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้มีการเน้นอัตลักษณ์ทางตัวตนมากขึ้นในฐานะ "พลเมืองไต้หวัน" เพื่อหวังขจัดความสับสนกับพลเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ โดยย้ำว่า รัฐบาลไต้หวันได้แจ้งให้นานาชาติให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว รวมถึงแจ้งไปยังองค์กรการบินระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อให้แจ้งไปยังสายการบินต่างๆ เช่นกัน พร้อมให้ความมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่เป็นปัญหาในการเดินทางของพลเมืองไต้หวันในอนาคตภายใต้พาสปอร์ตเล่มใหม่

"การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบใดๆในหนังสือเดินทาง เป็นสิทธิของประเทศนั้น ซึ่งตามหลักปฏิบัติในสากลประเทศที่เปลี่ยนเปลี่ยน ต้องแจ้งต่อสายการบินให้ทราบรวมถึงแจ้งให้ประเทศต่างๆรับทราบ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ใด" หวู่ กล่าว

ไต้หวัน-พาสปอร์ต



รีแบรนดิ้งประเทศ

ที่ผ่านมารัฐบาลไทเปภายใต้การนำของปธน.ไช่อิงเหวิน มีจุดยืนไม่ยอมรับนโยบายจีนเดียวของจีนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นหนทางการเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างกัน

ความคืบหน้าในการเปลี่ยนพาสปอร์ใหม่ของไต้หวันที่ลดทอนความสำคัญของ "สาธารณรัฐจีน" นับเป็นการเปลี่ยนครั้งสำคัญของรัฐบาลไช่อิงเหวิน ซึ่งที่ผ่านมาเธอพยายาม"รีแบรนดิ้ง"ประเทศให้พ้นขอบเขตจากคำว่า "สาธารณรัฐจีน" โดยก่อนหน้านี้ไต้หวัน ผลักดันแนวคิดการเปลี่ยนชื่อสายการบินแห่งชาติซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "ไชนาแอร์ไลน์" (China Airline) เพื่อป้องกันการสับสนระหว่าง "แอร์ไชน่า" (Air China) สายการบินแห่งชาติของจีน 

แม้การเปลี่ยนชื่อสายการบินแห่งชาติยังไม่คืบหน้า แต่ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงบนพาสปอร์ตถือเป็นหนึ่งในความพยายามที่ไต้หวันเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนจากจีนแผ่นดินใหญ่ และแสดงถึงความยืนหยัดในการเป็นรัฐอธิปไตยของตน

หนึ่งวันก่อนหน้าไต้หวันเริ่มใช้พาสปอร์ตใหม่ 'ไมค์ ปอมเปโอ' ได้ทิ้งทวนก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อทางการทูตระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลไทเป โดยให้เหตุผลว่า เงื่อนไขข้อจำกัดเหล่านั้นถูกบังคับใช้มานานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่สหรัฐสถาปนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่ง บนหลักการจีนเดียวตั้งแต่ปี 2522 

แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ (Joint Communiqué on the Establishment of Diplomatic Relations) เมื่อปี 2522 ระบุไว้ว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของจีนเพียงรัฐบาลเดียว และประกาศการยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แต่จะรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันในด้านวัฒนธรรม การค้าและความสัมพันธ์ในรูปแบบไม่เป็นทางการอื่น ๆ

การที่รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว ส่งผลให้สื่อจีนหลายแห่งเผยแพร่บทความโจมตีปอมเปโอ ว่าเป็นความพยายามสร้างบาดแผลระยะยาวในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ อีกทั้งจะสร้างความยุ่งยากให้กับรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของโจ ไบเดน 

ขณะเดียวกัััน 'เคลลีย์ คราฟต์' เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงไทเปอย่างเป็นทางการระหว่าง 13 - 15 ม.ค. นี้ โดยจะเข้าหารือกับประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน และโจเซฟ หวู่ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นการหารือก่อนหน้าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ มีกำหนดเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.

ทั้งนี้ หลังใช้พาสปอร์ตรูปแบบใหม่ ด้านจีนแผ่นดินใหญ่มีท่าทีตอบโต้ว่า การเปลี่ยนแปลงพาสปอร์ตของไต้หวันนั้นเป็นความเคลื่อนไหวเพียง "เล็กน้อย" เนื่องจากไต้หวันไม่อาจหลีกหนีความจริงที่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนได้

ที่มา : Focustaiwan , TheGuardian , Reuters