ไม่พบผลการค้นหา
'นพดล' ตอบโต้ 'ปานเทพ' ยุติการใส่ร้ายด้วยความเท็จ เรื่องเขาพระวิหารมีคำพิพากษายกฟ้องตนไปนานแล้ว รีบไปหาอ่านจะรู้ว่าตนปกป้องดินแดนอย่างไร

นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุผ่านโซเชียลมีเดีย วันนี้ (29 ธันวาคม 2567) ว่า ผมได้อ่านที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โพสต์เฟสบุ๊ก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 พาดพิงผมหลายประเด็น จึงขอบันทึกความจริงไว้ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนใส่ร้ายกันด้วยความเท็จ เพราะสังคมไม่ได้ประโยชน์ และสิ่งที่ผมบันทึกมีหลักฐานอ้างอิงเป็นเอกสารและคำพิพากษาของศาลยืนยัน ไม่ใช่การพูดความจริงครึ่งเดียว หรือเท็จทั้งหมด  โดยในโพลต์นี้จะเน้นเฉพาะประด็นเขาพระวิหาร ที่ผ่านการพิสูจน์ในศาลแล้วว่าผมคือผู้ปกป้องดินแดนเขาพระวิหาร โดยขอตอบโต้นายปานเทพแต่ละประเด็นดังนี้

1. ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 นายปานเทพกล่าวถูกต้องแล้วที่ระบุว่าในเดือนมิถุนายน 2505 (แม้ระบุวันที่ผิดเป็นวันที่ 5 จริงๆคือวันที่ 15)ศาลโลกตัดสินให้ไทยแพ้คดีจึงต้องยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา

2. ใส่ร้ายเท็จว่านายนพดลยกปราสาทให้กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก นายปานเทพบังอาจกล่าวเท็จและบิดเบือนว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2551 นายนพดล ปัทมะ….ได้ลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ยกปราสาทพระวิหารและพื้นที่บนแผ่นดินให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชาฝ่ายเดียว….”  เป็นการกล่าวเท็จเนื่องจาก  ก) นายปานเทพก็ระบุไว้ตามข้อ 1. ข้างต้นอยู่แล้วว่าไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 แล้วผมจะยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาซ้ำอีกได้อย่างไร เพราะปราสาทพระวิหารและแผ่นดินที่ปราสาทตั้งอยู่เป็นของกัมพูชามา 46 ปีก่อนแล้ว  ข) ที่บอกว่านายนพดลยกปราสาทให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชาฝ่ายเดียวก็จงใจให้คนเข้าใจผิด และใส่ร้ายผม เพราะเมื่อปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 เขาจึงขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ฝ่ายเดียวอยู่แล้ว และ ค) คำแถลงการณ์ร่วมนั้นศาลปกครองกลางสั่งห้ามใช้ ดังนั้นไทยไม่สามารถใช้คำแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวได้  และกัมพูชาไม่ได้ใช้คำแถลงการณ์ร่วมที่ผมลงนามประกอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใดทั้งสิ้น (อ้างอิง มติคณะกรรมการมรดกโลก ข้อ 5 วันที่ 7 กค. 2551 (เอกสารอ้างอิงหมายเลข 1 )

3. ผมปกป้องดินแดนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตาราง กม.สำเร็จ  ในปี 2549 กัมพูชายื่น ก) ตัวปราสาทพระวิหาร และ ข) พื้นที่รอบตัวปราสาทหรือพื้นที่ทับซ้อน ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก  แต่ผมเจรจาสำเร็จให้เขาตัดพื้นที่ทับซ้อนออก เพราะไทยอ้างสิทธิ์ จนเขายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร และต้องทำแผนผังใหม่ไปแทนแผนที่เดิมที่ผนวกพื้นที่ทับซ้อนเข้าไปด้วย ความสำเร็จนี้ถูกบันทึกไว้ในคำพิพากษาศาลโลก วันที่ 11 พย. 2556 เอกสารอ้างอิงหมายเลข 2)

4. ใส่ร้ายเท็จว่ากระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินความผิดทางอาญา นายปานเทพจงใจใส่ร้ายผมที่ระบุว่า “นายนพดล ปัทมะ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกในประเทศไทยที่กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย…” ผมอยากจะให้นายปานเทพทราบความจริงว่าผมไม่เคยกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ คำตัดสินที่นายปานเทพอ้างถึงนั้น เพียงแต่ตัดสินว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาประเภทที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนลงนาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศและผมไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินแต่ก็ต้องเคารพคำตัดสิน และไม่มีใครมีเจตนาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

5. ศาลฎีกาฯตัดสินยกฟ้องนายนพดล ปัทมะและในคำพิพากษาระบุว่าทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ทำ  พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายปานเทพ และแกนนำกลุ่มพันธมิตรหลายคน โจมตีกล่าวหาผมด้วยความเท็จว่า การที่ผมได้ลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ผมทำให้ไทยเสียดินแดน และทำให้ไทยเสียสิทธิในการทวงคืนปราสาทพระวิหาร อีกทั้งกล่าวหาพวกผมว่าขายชาติ ซึ่งต่อมา คณะกรรมการ ปปช.ไปยื่นฟ้องผมต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และในวันที่ 4 กันยายน 2558 ศาลฎีกาฯได้พิพากษายกฟ้องผม และในคำพิพากษายังได้ระบุว่า การลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ของจำเลย (นายนพดล) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงสมเหตุผลและถูกต้องตรงตามสถานการณ์ ทั้งมิได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิในดินแดนของประเทศไทย  รวมทั้งไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงในคำแถลงการณ์ร่วม (อ่านคำพิพากษาเต็ม คดีหมายเลขแดงที่ อม. 63/ 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 111 ก วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 หน้า 17-35) (เอกสารอ้างอิงหมายเลข 3 )

ชัดไหมครับว่าผมคือผู้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ เป็นผู้ปกป้องดินแดน ดังนั้นหยุดใส่ร้ายกันด้วยความเท็จครับ

ส่วนประเด็นอื่นๆ นั้น ผมจะตอบโต้ในโอกาสต่อไปครับ