ไม่พบผลการค้นหา
เผด็จการเมียนมาออกแถลงการณ์ขยายเวลาการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินออกไปจนถึงปี 2566 ในขณะที่ภายในประเทศยังคงเกิดสงครามการเมือง และการต่อต้านการรัฐประหารจากประชาชน นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของประชาชนไปตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564

ระบอบเผด็จการที่นำโดย มินอ่องหล่ายน์ เข้ายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐ ตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีก่อน ภายใต้คำสัญญาว่า ตนจะเร่งจัดการเลือกตั้งที่ “เสรีและเป็นธรรม” ในอนาคตโดยเร็ว อย่างไรก็ดี คำสัญญาดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ท่ามกลางการกดปราบประชาชนที่รุนแรง ส่งผลให้อนาคตของประชาธิปไตยในเมียนมามืดมนลงไปเรื่อยๆ

ในวันนี้ (1 ส.ค.) มินอ่องหล่ายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ได้ออกประกาศว่า พวกตนต้องการเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อการรักษาเสถียรภาพของประเทศ ด้วยการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินต่อไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะกินเวลาไปถึงปี 2566 ทั้งนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินจะมอบอำนาจให้แก่เผด็จการเมียนมา ในการจับกุมคุมขังและปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารได้ต่อไป

ประชาชนหลายฝ่ายในเมียนมาเริ่มเกิดความสงสัยว่า กองทัพเมียนมาอาจไม่ยอมจัดการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคลงรับการเลือกตั้ง หรือการถ่ายโอนอำนาจรัฐให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต ท่ามกลางการปราบปรามประชาชนอย่างหนักที่ยังคงเกิดขึ้นในทุกวัน

ก่อนหน้านี้ มินอ่องหล่ายน์ได้ประกาศต่อเวลาการประกาศใช้ภาวะฉุุกเฉินไปเมื่อเดือน ส.ค.ปีก่อน และภายใต้การประกาาศในครั้งนั้นเอง ที่มินอ่องหล่ายน์ได้แต่งตั้งให้ตนเองขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเมียนมา ท่ามกลางการไม่ยอมรับความชอบธรรมต่อมินอ่องหล่ายน์จากประชาคมโลก

จากการแถลงในวันนี้ของเผด็จการเมียนมา มินอ่องหล่ายน์ได้อ้างว่า การต่อขยายเวลาภาวะฉุกเฉินออกไปนั้น เป็นไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพ อีกทั้งระบบการเลือกตั้งของเมียนมาควรจะได้รับการปฏิรูป ด้วยการนำระบบเลือกตั้งในอดีตมาใช้รวมกัน ซึ่งเคยทำให้พรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ อองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างน่าเชื่อถือมาแล้วในปี 2563 ส่งผลให้พรรค NLD ได้รับที่นั่งของผู้แทนตามสัดส่วนคะแนนรับเลือก

อย่างไรก็ดี มินอ่องหล่ายน์อ้างว่า “พรรคอันทรงพลัง” ในเมียนมาทำให้เสียงทางการเมืองอื่นๆ ตกน้ำไป อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมาหรือที่รู้จักกันในชื่อทัดมาดอว์ ได้เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของ อองซาน ซูจี ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า การเลือกตั้งในปี 2563 มีการทุจริตเกิดขึ้น เนื่องจากพรรค NLD สามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภาไปได้กว่า 83% อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติในการเลือกตั้งครั้งนั้นลงความเห็นว่า การเลือกตั้งในครั้งนั้นถูกจัดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม

ปัจจุบันนี้ อองซาน ซูจี รวมถึงรัฐมนตรีของรัฐบาลเมียนมาอีกหลายคน ยังคงถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำเดี่ยว ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดย อองซาน ซูจี ต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาจากเผด็จการเมียนมา ซึ่งอาจมีโทษจำคุกรวมกันสูงสุดนานนับร้อยปี ในขณะที่ประชาชนนับล้านคนยังคงลงถนนประท้วงขับไล่ระบอบเผด็จการ ถึงแม้ว่าจะถูกกดปราบอย่างหนักโดยกองทัพ จนมีรายงานผู้เสียชีวิตรวมกันแล้วอย่างน้อย 2,100 ราย และถูกจับกุมคุมขังอีกหลายพันราย

เมื่อสัปดาห์ก่อน เผด็จการเมียนมาเพิ่งทำการประหารชีวิตนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวน 4 ราย ด้วยการแขวนคอ โดยสองในนั้น คือ โก จิมมี่ และ เพียว เซยา ตอ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรค NLD

ปัจจุบัน กองทัพเมียนมาพยายามต่อต้านการรบพุ่งจากชนกลุ่มน้อยนอกเมืองหลวงเนปิดอว์อย่างหนัก โดยเฉพาะกองกำลังกองโจรของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่คอยซุ่มโจมตีกองทัพเมียนมาอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ มินอ่องหล่ายน์ได้เชิญหัวหน้าชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ที่รบต่อสู้กับกองทัพเมียนมาเพื่อเข้าพูดคุยเจรจากันเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มเลือกที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการพูดคุย และเดินหน้ารบต่อต้านกองทัพเมียนมาต่อไป


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-62373975