ไม่พบผลการค้นหา
สภาฯ ถกยาวร่างแก้ไข พ.ร.บ.กยศ. เห็นชอบยกเลิกผู้ค้ำประกัน ป้องกันครูอาจารย์รับภาระเป็นลูกหนี้ร่วม ที่ประชุมเสียงข้างมากส่อหนุนปรับลดดอกเบี้ย แต่ความเห็นไม่ตรงกันควรลดเหลือ 1% หรือไม่เก็บเลย ที่สุดประธานฯ โยน กมธ. หาทางออก ก่อนพักการประชุม

วันที่ 31 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในวาระ 2 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ โดยได้ใช้เวลาพิจารณาเกือบ 10 ชั่วโมง จนถึงมาตรา 17 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

โดยสมาชิกต่างอภิปรายในประเด็นต่างๆ เป็นรายมาตรา ในประเด็นที่น่าสังเกต เช่น มาตรา 4 สมาชิกฯ แสดงความต้องการให้ กยศ. เป็นสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้า และได้แปรญัตติขอตัดข้อความที่บ่งบอกลักษณะฐานะของผู้มีสิทธิกู้ กยศ. ออกไป เนื่องจากการศึกษาควรเป็นสวัสดิการของรัฐ รัฐจึงควรมอบโอกาสการศึกษาให้กับประชาชนอย่างเสมอหน้า โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความยากจน

สำหรับมาตรา 12 ว่าด้วยข้อมูลที่ทาง กยศ. ต้องสรุปให้นักเรียนนักศึกษา เพื่อใช้ประกอบการพิจาณาขอกู้ยืมเงิน ซึ่งต้องเผยแพร่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีสมาชิกฯ มองว่า น้อยเกินไป เช่น จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายว่า ผู้เรียนจะต้องมองอนาคต และวางแผนการศึกษาล่วงหน้า หากเรียนผิดอาจทำให้ชีวิตเปลี่ยนได้ จึงเห็นว่าควรกำหนดใหม่เป็นปีละ 3 ครั้ง เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสตัดสินเส้นทางการเรียน และดำเนินชีวิตของตนได้ดีขึ้น

“ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันปีละระยะๆ ควรจะเป็นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ล้อไปกับโรงเรียนไทยคือมี 3 เทอม พอจะจบเดือน เม.ย. จะไปสมัครงาน มิ.ย. พ.ค. ช่วงตลาดนัดแรงงาน เขาจะได้รู้ว่าเขาควรจะไปเรียนประเภทไหน” จิรายุ กล่าว

กรรมาธิการตอบชี้แจงว่า มาตรา 38/1 เป็นหลักการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลให้ทันกับสมัยปัจจุบัน ในกฎหมายเดิมนั้นกำหนดให้มีการเผยแพร่เป็นระยะๆ ซึ่งมีความเป็นนามธรรม กรรมาธิการฯ จึงแก้ไขเป็นให้มีการเผยแพร่ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 243 เสียง

สุพิศาล ก้าวไกล 0BF46D9B61BB.jpeg8CB8836A-D3CE-402E-B8AD-7238ED15B72A.jpeg

เห็นชอบยกเลิกผู้ค้ำ หวั่นรับภาระแทนลูกหนี้

ส่วนมาตรา 13 ที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินตามหลักเกณฑ์ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ สงวนคำแปรญัตติให้การกู้ยืม กยศ. ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เนื่องจากจะทำให้ผู้ค้ำประกันได้รับความเดือดร้อน ที่ผ่านมาครูและบุคลากรทางการศึกษาหลายรายที่ค้ำประกันให้กับนักเรียน เพียงเพราะต้องการให้นักเรียนได้ศึกษาระดับ ป.ตรี กลับต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากจนถูกฟ้องร้อง เนื่องจากลูกหนี้ตกงาน ไม่สามารถหาเงินชำระหนี้ได้

ด้าน ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สงวนคำแปรญัตติ ขอให้ยกเลิกผู้ค้ำประกันในทุกกรณี สอดคล้องกับนโยบายของพรรคที่ต้องการเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการ กยศ. ได้ถ้วนหน้า ขยายเงื่อนไขการให้ทุนเรียนฟรีให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 

ตลอดจนสมาชิกฯ จากหลายพรรคการเมือง เห็นด้วยว่าควรยกเลิกผู้ค้ำประกัน อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรครวมพลังท้องถิ่นไท เพราะเห็นที่ผ่านมาผู้ค้ำประกันได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผู้กู้ยืมไม่ยอมจ่ายเงินคืนกองทุน บางรายถูกฟ้องร้องจนล้มละลาย ถูกยึดที่ทำกิน

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น และผู้แปรญัตติ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 182 เสียง ไม่เห็นด้วย 119 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ยกเลิกผู้ค้ำประกันเงินกู้

ถกวุ่นปรับลดดอกเบี้ยจบไม่ลง

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อพิจารณาถึงมาตรา 17 ที่กำหนดให้ยกเลิกการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กองทุน ความเห็นของสมาชิกฯ แตกเป็นหลายทาง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้เก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 แต่ต่อมากรรมาธิการฯ เสียงข้างมากปรับลดให้เก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 และกรรมาธิการฯ ฝ่ายเสียงข้างน้อย เสนอไม่ให้เก็บดอกเบี้ย และไม่ให้เก็บเบี้ยปรับ

สมาชิกฯ ที่ไม่เห็นกับการยกหนี้ เช่น ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า กยศ. เป็นเงินกองทุนหมุนเวียน โดยหลักความรับผิดชอบและวินัยการเงินต้องใช้ดอกเบี้ย หากไม่มีดอกเบี้ยจะทำให้มูลค่าของกองทุนลดลง การจัดเก็บดอกเบี้ยจะช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้กู้ และส่งต่อโอกาสไปยังรุ่นน้องได้ด้วย

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการผู้ขอสงวนความเห็น ด้วยคะแนน 226 ต่อ 87 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง อย่างไรก็ตาม หลังจากลงมติแล้ว ได้มีสมาชิกฯ สงวนความเห็น และสงวนคำแปรญัตติอีกจำนวนมาก โดยมีทั้งฝ่ายที่ต้องการปรับแก้ในรายละเอียด เช่น ให้ปรับลดดอกเบี้ยเป็น 1% หรือไม่ต้องเก็บดอกเบี้ยเลย และอีกหลายข้อเสนอ ซึ่งได้ใช้เวลาหารือกันนานกว่า 1 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

กระทั่งเวลา 20.43 น. ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ประธานการประชุมขณะนั้น ขอให้พักการประชุมไปก่อน เพื่อให้กรรมาธิการและผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติได้ปรึกษาหารือกัน ว่าข้อเสนอใดเหมาะสมที่สุด ก่อนจะมาลงมติอีกครั้งในที่ประชุมสัปดาห์ต่อไป โดยระหว่างนั้นมีสมาชิกฯ พยายามถามประธานฯ ว่าการประชุมอีกครั้งคือเมื่อใด แต่การประชุมได้ยุติไปก่อน