เพนกวิน หรือ 'พริษฐ์ ชิวารักษ์' นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'วอยซ์ออนไลน์' ถึงกระแสแฟลชม็อบของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า การทำกิจกรรมแฟลชม็อบหรือกิจกรรมทางการเมือง เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่แปลกใหม่มาก เพราะว่าทุกคนล้วนแต่เป็นคนหน้าใหม่ทั้งสิ้น ไม่ใช่คนที่เคยทำกิจกรรมมาแล้ว ดังนั้นเป็นข้อพิสูจน์ถึงความไม่พอใจต่อสภาพสังคมที่ไร้อนาคต ความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่รู้สึกว่าปล้นอนาคตไปจากเรามันมีมาก ไม่ได้มีแค่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีแค่จุฬาฯ แต่มีทุกที่
'เพนกวิน' บอกว่า เมื่อมีการลุกฮือเกิดขึ้นในทุกรั้วมหาวิทยาลัย สนท. มีหน้าที่เชื่อมต่อหรือประสานงานให้พลังที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้รวมกันเป็นพลังใหญ่ เพื่อที่นักศึกษาจะสามารถยกระดับความเคลื่อนไหว สามารถต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตยและทวงคืนอนาคตในระดับที่มากกว่านี้ได้ ซึ่งในสัปดาห์นี้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแสดงความไม่พอใจ แต่ความไม่พอใจที่มีคนร่วมแสดงมานับพันถึงสองพันคน ถือว่าเป็นความไม่พอใจที่ดังมาก หากนิสิตนักศึกษา นักเรียนเยาวชนทุกกลุ่มร่วมมือกันหารือเพื่อสร้างข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรม
“ผมเชื่อว่าการเคลื่อนไหวจะไปได้ไกลกว่านี้ ผมเชื่อว่าการเคลื่อนไหวจะสามารถดึงดูดคนที่มากกว่านิสิตนักศึกษาจะสามารถดึงคนที่ยังไม่ได้ออกมา รวมถึงดึงประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมเรียกร้องไปกับกระบวนการประชาธิปไตยของเราได้” นาย พริษฐ์ กล่าว
สำหรับการใช้สัญลักษณ์มือถือเปิดไฟส่องในกิจกรรมแฟลชม็อบนั้น เขาบอกว่า การเปิดแฟลชมือถือส่องจะสื่อความหมายได้เช่นเดียวกันแสงเทียน เพียงแต่ว่าเป็นการปรับให้ง่ายขึ้นและสามารถเข้าได้กับทุกสถานการณ์ เพราะแทบทุกคนก็มีมือถืออยู่แล้ว และคิดว่าจะเป็นสัญญลักษณ์ทางการเมืองได้เช่นเดียวกับการชูสามนิ้ว และปรากฎการณ์ตอนนี้เป็นการแปรพลังจากโซเชียลมีเดีย แปรพลังแฮชแท็กให้ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมากและเฝ้ารอมานานหลายปี
เมื่อถูกถามว่า ในอนาคตจะมีการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาฯ ร่วมกับอนาคตใหม่หรือไม่นั้น แกนนำ สนท. บอกว่า มวลชนที่มาร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบไม่ได้เป็นมวลชนของอดีตพรรคอนาคตใหม่ แต่การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงไม้ขีดไฟ น้ำมัน เชื้อเพลิงมีอยู่แล้วก็คือความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่ปล้นอนาคตเราไปถึง 6 ปี และเป็น 6 ปีแห่งความอัปยศ
“การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นชนวนแรกและผมคิดว่าไม่เป็นชนวนสุดท้าย เพราะตอนนี้เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความไม่พอใจมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ความไม่พอใจมีทุกที่ มหาวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งโรงเรียนที่เราไม่เคยได้ยินว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ก็ได้ออกมาแสดงพลังกัน”
#ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น ถูกจุดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย และเกิดขึ้นหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 ปิดฉากการเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียง 6.3 ล้านเสียง และได้รับฉันทามติจากเสียงของคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ
ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.เข้าสภาฯ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 จำนวน 81 คน การทำลายพรรคอนาคตใหม่ด้วยกระบวนการนิติสงคราม ดั่งที่ 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ระบุไว้ในหลายวาระ
ไม่ว่าจะเป็นการสอย 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้น ส.ส.จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีถือหุ้นสื่อสารมวลชน
รวมทั้งยังตามมาด้วยการยุบพรรคจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส. 11 คนถูกตัดสิทธิการสมัครเลือกตั้งและถูกห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
เมื่อสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ เหลือเสียงในสภาเพียง 65 เสียง และยังถูกดูดเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทำให้มีเสียงในสภาฯ เหลือเพียง 56 เสียง
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นคู่ขนานการทำกิจกรรมนอกสภาฯ ผ่านแฟลชม็อบที่เริ่มต้นจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2563
"แฟลชม็อบที่ ม.ธรรมศาสตร์นี้มีเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพมาเข้าร่วมและแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งยากมากที่จะมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่แฟลชม็อบที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีนับพันคน รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลที่แทบไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา แต่คนมาร่วมฟังปราศรัยถึง 2,000 กว่าคน ดังนั้นเป็นข้อพิสูจนได้ว่านักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือของใคร นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้มีใครจ้างมา ไม่ได้เป็นเด็กสังกัดใคร ซึ่งสังกัดอยู่อย่างเดียวคือสังกัดพลเมืองไทยเป็นประชาชนคนไทยที่เขารู้สึกว่าประเทศไทยที่เขาควรได้เป็นเจ้าของถูกปล้นไปจากมือเขานานถึง 6 ปี แล้ว" พริษฐ์ บอก
ส่วนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบหลายสถาบันการศึกษา แกนนำ สนท.คนดังกล่าว ระบุว่า ต้องประสานพลังของแต่ละสถาบัน พลังของแต่ละกลุ่มให้มาเป็นเนื้อเดียวกัน ตอนนี้ทุกคนมีความต้องการตรงกันทุกกลุ่ม คือต้องการประชาธิปไตยกลับมา และคิดว่าเป็นไปได้ในน้ำมือของนิสิตนักศึกษาในสถานการณ์แบบนี้
เมื่อถามถึงท่าทีของสนท.หลังจากนี้จะยกระดับการชุมนุมโดยยึดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นโมเดลหรือไม่ 'พริษฐ์' กล่าวว่า ต้องหารือกันในกลุ่มนิสิตนักศึกษาก่อนว่าแท้จริงแล้ว นอกจากความไม่พอใจที่้เกิดขึ้นเป้าหมายสูงสุดคืออะไร เมื่อเรามีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันจะไม่เป็นแค่เป้าหมายของนักศึกษา แต่เป็นเป้าหมายของประชาชนทั้งประเทศ และส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้มาก ที่จะมีการเคลื่อนไหวแบบยกระดับที่จะมีการชุมนุมใหญ่ ซึ่งในช่วงไม่กี่วันนี้ม็อบต่างๆ ที่ผ่านมารวมกันได้เกือบหมื่นคน ถ้าทุกคนไปยืนในจุดเดียวกัน อาจจะเป็นไปได้เหมือนกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างไรก็ตามต้องดูสถานการณ์กันไป เพราะตอนนี้เงื่อนไขทางสังคมก็ต่างจาก 14 ตุลาคม 2516 ค่อนข้างมาก
"ตอนนี้คือการแสดงพลัง ผมคิดว่าพลังที่จะแสดงยังไม่หมด ยังแสดงได้มากกว่านี้ ในไม่ช้านี้กลุ่มนักศึกษาจะมีข้อเรียกร้องที่เป็นเอกภาพ และออกมาร่วมกันเคลื่อนไหวเป็นพลังเดียวกัน ผมคิดว่านี่เป็นการปฏิวัติของนักศึกษาและประชาชน" พริษฐ์ กล่าว
'พริษฐ์' ยังฝากไปถึงประชาชนทุกภาคส่วนว่า ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้เป็นสัปดาห์สอบของมหาวิทยาลัยชั้นนำแทบจะทุกมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แน่นอนว่ากิจกรรมแฟลชม็อบจะต้องซาไป จึงอยากขอร้องไปทางประชาชนว่าไม่ใช่แค่นักศึกษาที่สามารถจะจัดการชุมนุมหรือทำกิจกรรมได้ แต่ประชาชนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ หรือประชาชนทั่วไป กลุ่มการเมืองต่างๆ ให้มาช่วยกันออกมาส่งเสียงทวงคืนความยุติธรรม ทวงคืนประชาธิไตย และทวงคืนอนาคตไปด้วยกัน
พวกผมสู้อยู่แล้ว เพราะนี่คืออนาคตของเรา แต่ประเทศไม่ได้มีแต่คนรุ่นใหม่ ไม่ได้มีแต่นักศึกษา ประเทศมีคนทุกวัยและผมขอวอนร้องขอไปถึงพ่อแม่พี่น้องว่าออกมาช่วยพวกเราทวงคืนอนาคตไปด้วยกันนะครับ”
แกนนำ สนท. ทิ้งท้ายว่า เวทีชุมนุมหลายเวทีในขณะนี้ ไม่ได้เป็นเวทีปกป้องอนาคตใหม่ และไม่ใช่เป็นเวทีของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป้นเวทีของคนทุกกลุ่มทีมีความไม่พอใจต่อสภาพสังคมที่เป็นอยู่
"นี่คือเวทีเสรีภาพและคิดว่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ที่เหมาะที่สุดที่จะประกาศคณะราษฎรที่เป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ จะได้ถูกนำมาอ่านอีกครั้ง ในสถานการณ์ที่มรดกในความทรงจำของคณะราษฎรหายไปทีละชิ้น คณะราษฎรคือผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย แต่คณะราษฎรสร้างประชาธิปไตยไม่เสร็จ คิดว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของคนทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่เรื่องของคณะราษฎรเพียงอย่างเดียวมันเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อไป"
อนาคตการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร มวลชนนอกสภาฯ จะจุดติดหรือไม่ สถานการณ์และเงื่อนไขเท่านั้นคือสิ่งเร้า!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง