สภาพของสังคมไทยในวังวนที่ยังหาทางออกไม่เจอ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นโดยบุคคลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นมา ผ่านการทำประชามติที่มีการปิดกั้นการรณรงค์ ในยุค คสช. และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็เริ่มสำแดงให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญต่อทิศทางอนาคตประเทศไทย
'รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล' จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สอนกฎหมาย และมีความสนใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ในประเด็นความเป็นไปได้ของการแก้รัฐธรรมนูญ 2560
รศ.ดร.สมชาย เล่าให้เห็นสภาพปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทำให้เห็นผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้สัมพันธ์กับการเลือกตั้ง ที่กลายเป็นอำนาจนำทางการเมือง เราเห็นอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อำนาจขององค์กรอิสระในด้านต่างๆ ที่เริ่มแสดงบทบาท สิ่งเหล่านี้เริ่มสะท้อนให้เห็นปัญหา “ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่”
นอกจากนี้ รศ.ดร.สมชาย ยกตัวอย่างของปัญหา กรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่านี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งที่ฝ่ายค้านประกาศว่าเรื่องนี้น่าจะจัดการให้จบสิ้นเรียบร้อย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับพยายามที่จะบ่ายเบี่ยง
นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ อาจจะมีปัจจัยด้านอื่นร่วมด้วย แต่ในแง่หนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างสำคัญ
รศ.ดร.สมชาย เสนอความเป็นไปได้ 3 ทางที่จะจัดการกับรัฐธรรมนูญ 2560 คือ
หนึ่ง การแก้ไขเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมกันในหมู่นักการเมือง เช่น ปัญหาเลือกตั้ง ที่นักการเมืองเห็นพ้องกันว่าควรแก้ ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย เห็นว่าในด้านนี้อาจยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้มากที่สุด
สอง การแก้ไขในเรื่องขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ง่าย เนื่องจากข้อกำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ยุ่งยากมาก มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อน และต้องอาศัยเสียงข้างมากเป็นพิเศษ รวมถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบ
สาม การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แบบปี 2540 ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย มองว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตาม คงไม่ใช่แค่เรื่องการคิดแบบคณิตศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของการผลักดันให้เกิดความเห็นพ้องร่วมกันระดับหนึ่ง
ขณะที่หลายฝ่ายพยายามจะเสนอโมเดลการแก้รัฐธรรมนูญแบบในปี 2540 แต่เขามองว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นได้ภายใต้สถานการณ์ที่คนหลายๆ กลุ่ม ในสังคมไทยเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาที่จะต้องสร้างระบบใหม่ให้เกิดขึ้น รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเกิดขึ้นบนการเคลื่อนไหวของประชาชน นักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ นักการเมือง ทุกฝ่ายถูกบีบให้ต้องผลักดันตาม การคิดถึงโมเดล 2540 คงเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากอยากจะเห็น แต่สถาการณ์มันอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างปี 2540
ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย มองว่า ในแง่หนึ่ง ความยากของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยด้าน ส.ว. แต่การทำให้เกิดความเห็นพ้องร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ฝ่ายต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ถ้าเกิดจะนำไปสู่วิถีทางที่เป็นการแก้ไข ยังคงต้องอาศัยการรณรงค์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก
“ผมคิดว่ารอบนี้คงไม่เร็ว ผมคิดว่าอาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าที่มันจะเขยิบขึ้นไปข้างหน้าได้”
“ผมคิดว่ายากกว่า...ยากกว่า ปี 2540 มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า เสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่ในสังคมปัจจุบัน มันมีฝ่ายที่สนับสนุนคุณประยุทธ์ ฝ่ายที่ไม่เอาคุณประยุทธ์ ฝ่ายที่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐประหาร และมันยังดำรงอยู่ คือถ้าเรามองผ่านผลการเลือกตั้ง ก็เห็นว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังรู้สึกว่าคุณประยุทธ์ยังโอเคอยู่ ยังสามารถที่จะเป็นผู้นำอยู่ มันจะสะท้อนความเห็นจริงทั้งหมด ไม่จริงทั้งหมด มันสะท้อนให้เห็นว่ามีคนคิดเห็นที่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในทางสาธารณะ ที่แตกต่างกันดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ทำให้ความพยายามที่จะผลักดันแบบการคิดถึงรัฐธรรนูญ 2540 เป็นโมเดล ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำ” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
ทั้งนี้ เงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีความซับซ้อน และด่านที่กล่าวได้ว่ายากสุดคือ การกำหนดให้ต้องใช้เสียงของ ส.ว. ถึง 1 ใน 3 เพื่อให้การแก้ไขสำเร็จลุล่วงไปได้
หากมีการผลักดันได้จนถึงรอบที่ต้องใช้เสียง ส.ว. รศ.ดร.สมชาย มองว่า หนทางที่จะเปลี่ยน ส.ว. ให้เห็นด้วยได้ คงต้องอาศัยแรงกดดันจากสาธารณะพอสมควร หากย้อนไปในปี 2540 พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งก็เปลี่ยน เพราะแรงกดดันสาธารณะ แต่ขณะนี้การสร้างแรงกดดันสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องง่าย คงต้องออกแรงในการรณรงค์ หรือการทำความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นดั่งภาพสะท้อนของสังคมไทยในความปรารถนาของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งซึ่งยากที่เขาจะยอมให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่มีลักษณะเฉพาะมากผ่านการรัฐประหาร
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สมชาย มองว่าอย่างน้อย เวลาที่ผ่านไป 5 ปี ความนิยมชมชอบของคณะรัฐประหารก็ลดระดับลง คนจำนวนไม่น้อยก็เริ่มถอยห่างออกมาจากคณะรัฐประหาร จากความนิยมที่เคยมี เพราะฉะนั้น ถามว่ามีโอกาสไหม ก็ยังพอมีโอกาส เพียงแต่ว่าทั้งหมดอย่าคาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นแบบชั่วข้ามคืน หรือชั่วข้ามสัปดาห์ รศ.ดร.สมชาย กล่าว
รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ในสังคมไทยมันไม่มีอะไรที่จะสามารถป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกฉีก มันยากมากที่จะหากลไกแบบไหนมาป้องกัน ที่ผ่านมามีความพยายามคิดค้นกลไกการป้องกันมาหลากหลายรูปแบบ แม้กระทั่งความพยายามที่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเองก็ตามว่า “นิรโทษกรรมกับผู้ที่ทำการรัฐประหารไม่ได้” แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ถูกฉีก แล้วก็มีการนิรโทษกรรม
“สิ่งที่อาจจะช่วยทำให้ไม่เกิดการรัฐประหาร คงต้องดึงสังคมไทยกลับเข้ามาสู่กฎเกณฑ์กติกาแบบที่มันใกล้เคียงกับประเทศเสรีประชาธิปไตยเขาทำกัน คือต้องค่อยๆ สร้างกติกาซึ่งพอจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย แล้วใช้กติกานั้นเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้ง ซึ่งมันก็คงต้องผ่านช่วงเวลาหนึ่ง...ถึงนาทีนี้ไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันได้มากเท่าไหร่ว่า รัฐธรรมนูญจะไม่ถูกฉีก มันอาจจะถูกฉีกอีกก็ได้”
รศ.ดร.สมชาย มองว่า หากมีการแก้แล้วนำไปทำประชามติ ก็เป็นเครื่องมือที่อาจจะทำให้มันสนองความต้องการหรือตอบว่าสังคมไทยมีความคิดเห็นอย่างไร ถ้าเราดูจากผลการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 และบรรยากาศสังคมที่น่าจะเปิดมากขึ้น ต้องไม่ปฏิเสธว่าการทำประชามติครั้งที่แล้ว มันมีอำนาจบังคับบางอย่าง ซึ่งในห้วงเวลาปัจจุบันมันน่าจะเบาบางลง แต่อาจจะไม่หายไป สิ่งนี้น่าจะทำให้ผู้คนสามารถแสดงเจตจำนงได้อย่างเสรีมากขึ้น ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ คงต้องขึ้นอยู่กับประเด็นที่ถูกผลักดันว่าจะทำประชามติในประเด็นไหน
รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกของสังคม เราควรมีสิทธิในการกำหนด ว่าสังคมที่เราอยู่ จะเดินไปแบบไหน เราคงเป็นส่วนหนึ่ง ที่น่าจะมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เลือกที่จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย คัดค้าน โต้แย้ง ด้วยวิถีทางแบบที่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยถกเถียงกัน ไม่มีอะไรที่คนจะเห็นตรงกัน 100%
“ผมคิดว่าในสังคมทุกสังคมเป็นแบบนี้ จริงๆ สังคมมนุษยชาติมันก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ด้วยการถกเถียงนี่แหละ ที่มันทำให้สังคมมนุษย์มันเขยิบไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นการปิดปากผู้คน พยายามจะกำราบผู้คน หรือคิดว่าความเห็นของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผมคิดว่าอันนี้อันตราย อย่างน้อย 5 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมอยู่ในภาวะแบบไหน ไม่เพียงในแง่การเมือง ผมคิดว่าในแง่ของเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตาม”
ภาพ - เสกสรร โรจนเมธากุล / ฐานันด์ อิ่มแก้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง