การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมอง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร เด็กที่ได้กินนมแม่จะมีระดับสติปัญญาสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่มาก 3 จุด ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
“เด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนต้องกินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่มีน้ำ ของเหลวหรืออาหารอื่นใด และกินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น” เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(WHO) โดยตั้งเป้าหมายในปี 2568 ไว้ว่า “เด็กแรกเกิด-ต่ำกว่า 6 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 50” ในปี ค.ศ.2018 องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้มีการทบทวนขั้นตอนของบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น โดยพบว่าบันไดขั้นที่ 1-5 คือแนวทางการปฏิบัติสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นในโรงพยาบาล
คือ 1)มีนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2)บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนมีทักษะในการนำนโยบายไปปฏิบัติ 3)อธิบายให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนทราบถึงประโยชน์และวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 4)ช่วยแม่เริ่มให้ลูกดูดนมภายในครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด และ 5)สอนให้แม่รู้วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และวิธีทำให้น้ำนมคงมีปริมาณพอเพียงแม้ว่าจะต้องแยกจากลูก ซึ่งบุคลากรทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนิน โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลว่า การให้บริการของโรงพยาบาลตามแนวทาง บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (10 Steps to Successful Breastfeeding) ขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดูแลและช่วยเหลือแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จในสถานพยาบาล
“สิ่งสำคัญในการดูแลและช่วยเหลือแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ การให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องนมแม่และวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าและประโยชน์ของนมแม่ ซึ่งควรเตรียมพร้อมตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดแม่ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในเรื่องท่าอุ้มลูกเข้าเต้า การดูดนมของลูก อาการหิว อาการอิ่ม และมีระบบที่พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อกลับไปที่บ้าน สิ่งสำคัญที่จะทำให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จนั้นยังขึ้นคนในครอบครัวซึ่งต้องพร้อมให้การสนับสนุนและให้กำลังใจ
รศ.พญ.กุสุมา ชูศิลป์ กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าเมื่อปัจจัยความสำเร็จส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มต้นที่โรงพยาบาล ดังนั้นแพทย์และพยาบาลจึงต้องมีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่านมแม่นั้นมีความสำคัญ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้เน้นที่การเรียนการสอนให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจและเห็นความสำคัญถึงคุณค่าของนมแม่ เห็นประโยชน์ของการกินนมแม่จากเต้า และการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อหลังคลอด
“จุดสำคัญคือแพทย์และพยาบาลจะต้องรู้ก่อนว่านมแม่นั้นดีจริง มีความเชื่อว่านมแม่นั้นสำคัญที่สุด คำว่าดีไม่ใช่แค่กินแล้วดีสุขภาพแข็งแรง แต่ต้องรู้ว่าในน้ำนมมีส่วนประกอบของอะไรบ้าง รู้กลไกการสร้างน้ำนม รู้ว่าการเข้าเต้าช่วยลดการอักเสบของหูชั้นใน ลดความเสี่ยงสำลักน้ำนมและโรคปอดเรื้อรังโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ปากแหว่งเพดานโหว่ รู้ว่าเด็กที่ไม่ได้ดูดนมจากเต้ามักจะพูดไม่ค่อยชัด รู้ว่าการใช้เครื่องปั้มนมจะทำให้แม่พบปัญหาหัวนมอักเสบแตก เมื่อเห็นความสำคัญของนมแม่ ต่อให้เด็กมีความผิดปกติอย่างไรแพทย์และพยาบาลก็จะต้องช่วยกันนำเข้าเต้า ให้มีการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อ ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกได้กินนมแม่ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง”
ซึ่งความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนนั้น เกิดจากหลายปัจจัยที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนผ่านการสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วนในสังคมว่านมแม่นั้นดีที่สุด
“ความสำเร็จของนมแม่ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มารดาที่ฝากครรภ์และคลอดในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะต้องได้รับบริการตามบันได10 ขั้นสู่ความสำเร็จการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบุคลากรต้องทำได้จริง มีการติดตามผลอย่างจริงจังต่อเนื่อง พยาบาลที่ใกล้ชิดกับแม่มากที่สุดจะต้องทำงานด้วยความมีน้ำใจ และยึดแม่ลูกเป็นศูนย์กลาง ขั้นที่แม่ทุกคนต้องปฏิบัติให้ได้ ได้แก่ บันไดขั้นที่3 คือการรับรู้ความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเต็มและลองหัดอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี
บันไดขั้นที่4 แม่ต้องเริ่มต้นโอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อและให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าภายในชั่วโมงแรกหลังเกิด เพราะจะช่วยให้นำนมแม่มาเร็ว ลูกดูดหัวน้ำนมเร็วได้ภูมิคุ้มกันโรคอย่างเต็มที่ใน 2-3วันแรกหลังเกิด และเพิ่มโอกาสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้สำเร็จมากขึ้น และถ้าได้รับการช่วยเหลือในบันไดขั้นที่ 5 ให้ดูดถูกวิธี ดูดแต่ละครั้งแต่ละข้างนาน15-20นาที ตลอด 24 ชั่วโมงลูกควรดูดนมได้ 8-12 ครั้ง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนอาจจะเหนื่อยในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดในการสนับสนุนช่วยเหลือแม่ในเรื่องต่างๆ แต่ถ้าไม่เริ่มทำในช่วงนี้โอกาสและความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะหายไป” รศ.พญ.กุสุมา กล่าวย้ำ
“นอกจากการสนับสนุนช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ตัวของแม่เองจะต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และภาครัฐต้องขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หลังคลอด หรือที่ต้องกลับไปทำงาน ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนครบ 6 เดือน โดยต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้สังคมไทยรับรู้ถึงความสำคัญของนมแม่ รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูกเพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย” รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวสรุป
สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด สามารถศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเตรียมตัวอย่างถูกต้องได้ที่ www.thaibf.com หรือที่ Facebookเพจ : Thaibf และ นมแม่ หรือดาวน์โหลด Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.