สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเราเริ่มรู้จักกับเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสุขภาพนามว่า ‘เบียร์ไร้แอลกอฮอล์’ หรือ ‘มอลต์ดริ้งค์’ แต่ต้องบอกก่อนว่า ทั้งเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ และมอลต์ดริ้งค์ คือเครื่องดื่มประเภทเดียวกัน ทว่าเรียกแตกต่างออกไปตามการทำตลาดของแต่ละแบรนด์ หรือความนิยมในแต่ละประเทศ
ความจริงแล้วเครื่องดื่มประเภท ‘ไร้แอลกอฮอล์’ (Alcohol-Free, Non-Alchoholic) ก็ไม่ได้ปราศจากแอลฮอล์เสียทีเดียว แต่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์น้อยนิดจนกฎหมายอนุญาตให้ใช้คำว่า ‘ไร้แอลกอฮอล์’ สำหรับเรียกผลิตภัณฑ์ หรือใช้ในการโฆษณาได้ เช่น สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้เรียกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ว่า ‘ไร้แอลกอฮอล์’
ขณะเดียวกันกฎหมายของสหราชอาณาจักรระบุคำว่า ‘ไร้แอลกอฮอล์’ กับเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์น้อยกว่า 0.05 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนบางประเทศในสหภาพยุโรปสามารถเรียกผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ว่า ‘ไร้แอลกอฮอล์’ เช่นเด���ยวกับอเมริกา
กลับมายังประเทศไทย ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาต (อย.) ให้นำเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไปขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารตามกฎหมาย และต้องมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ อย. อนุญาตให้ทำการโฆษณาได้ แต่ต้องแสดงข้อความ ‘เครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือสกัดแอลกอฮอล์ออก’ ควบคู่ทุกครั้ง และต้องไม่โฆษณาเชื่อมโยงถึงผลิตภัณฑ์เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประเภทอื่น
แม้ประวัติศาสตร์ของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะไม่เนิ่นนานถึง 5,000 ปีก่อนคริสตกาลเหมือนเบียร์ปกติ แต่ก็ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1919 ซึ่งเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ถือกำเนิดจากการห้ามสุราในสหรัฐฯ ที่ไม่อนุญาตให้ทำการผลิต นำเข้า ขนส่ง หรือจำหน่ายสุรา โดยกฎหมายฉบับนี้ทยอยเกิดขึ้นทั่วแดนลุงแซม เริ่มต้นจากรัฐแคนซัสในปี 1881 จนกระทั่งครอบคลุมทั่วประเทศในปี 1920
ในปี 1919 ผู้ผลิตเบียร์อย่าง Anheuser-Busch, Miller หรือ Schlitz เริ่มทำเครื่องดื่มที่เรียกว่า ‘ใกล้เคียงกับเบียร์’ (Near Beer) โดยออกแบบให้เครื่องดื่มดังกล่าวมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อต่อสู้กับกฎหมายในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อจะดึงแอลกอฮอล์ออกมาพวกเขาต้องต้ม หรือกรองเบียร์ที่ปรุงออกมาแบบปกติอีกครั้ง ซึ่งหลายฝ่ายบอกว่าจะทำให้เบียร์มีรสชาติแย่ลง แต่กระบวนการผลิตก็มีการพัฒนาเรื่อยมา จนปัจจุบันวิธีในการทำเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ แบ่งออกหลักๆ เป็น 3 แบบด้วยกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับเบียร์ปกติแล้ว มีผลวิจัยบอกว่า เบียร์ไร้แอลกอฮอล์มีประโยชน์กว่าสุขภาพกว่ามาก โดยช่วยเพิ่มจำนวนสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลง และมีส่วนประกอบของวิตามินบี 6 ที่ร่างกายต้องการ
นอกเหนือจากคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ยังถูกมองว่า เป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค และกระแสสุขภาพที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ก็เป็นผลให้ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เจริญเติบโตตามไปด้วย
ข้อมูลจาก Global Market Insight แสดงให้เห็นว่า มูลค่าตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในทวีปเอเชียแปซิฟิค มีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านเหรียฐสหรัฐฯ ในปี 2016 ซึ่งประเทศที่นิยมบริโภคเบียร์ไร้เแอลกอฮอล์เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคนี้คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ เมื่อข้ามฝากไปยุโรปจะพบว่า ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ของสหราชอาณาจักรเติบโตกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่งานวิจัยจาก Digital Journal ที่คาดการณ์อัตราการเติบโตของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทั่วโลกบอกว่า ในปี 2023 มูลค่าทางการตลาดของเบียร์ไร้แอลกอฮอลล์ในตะวันออกกลางจะสูงถึง 533 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 9.30 เปอร์เซ็นต์
สำหรับประเทศไทยคาดว่า ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะเติบโตได้อีก โดยนายอาชว มหามงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท กัปตัน บาร์เรล จำกัด คาดคะเนสถานการณ์ของเบียร์ไร้แอลกอลฮอล์ไว้ว่า “ในช่วงหลังที่กระแสรักสุขภาพแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายเบียร์ลดลง ขณะที่ความนิยมเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยค่อยๆ ขยับตัวสูงขึ้น”
นายอาชวยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เบียร์ไร้แอลกอฮอล์เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลความนุ่มลึก และหอมสดชื่นของเบียร์แต่ให้ความสำคัญกับร่างกาย เช่นนักกีฬา หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ
ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ พย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปีที่ผ่านมามีการรายงานว่า นักกีฬาโอลิมปิกชาวเยอรมันดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มากกว่า 1,000 แกลลอน
ตามคำบอกกล่าวของ โยฮันเนส เชอร์ (Johannes Scherr) แพทย์ประจำทีมสกีของเยอรมัน เบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะช่วยให้นักกีฬาฟื้นฟูร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และฝึกซ้อมได้หนักมากขึ้น
ไลนัส แสตรสเซอร์ (Linus Strasser) นักสกีมืออาชีพจากเยอรมันบอกว่า เบียร์ไร้แอลกอฮอล์รสชาติดี และดีต่อร่างกาย พร้อมสมทบว่าวีทเบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์เป็นอะไรที่ดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง และมีสารไอโซโทนิกจึงเหมาะกับนักกีฬาอย่างพวกเขา
แม้แสตรสเซอร์ จะพลาดท่าและไม่ได้เหรียญรางวัล แต่ในแข่งขันครั้งนั้นทัพนักกีฬาจากเมืองเบียร์ กวาดไปทั้งหมด 14 เหรียญทอง 10 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง โดยผลรวมได้อันดับสองรองจากนอร์เวย์ประเทศเดียวเท่านั้น
ย้อนกลับไปที่นายแพทย์ประจำทีมอย่าง เชอร์ ได้ทำการศึกษาในปี 2009 กับนักวิ่งในมิวนิกมาราธอน และพบว่านักกีฬาที่ดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน และ 2 สัปดาห์หลังการแข่งขัน มีอาการอักเสบและการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจน้อยลงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งนายแพทย์ผู้นี้ยกความดีความชอบให้สารต้านอนุมูลอิสระ และโพลีฟีนอลในเบียร์ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
อ้างอิง: