ประธานาธิบดี ‘สีจิ้นผิง’ ระบุว่าความพยายามผลักดันนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างประชาชนในฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลกวางตุ้ง เพื่อเพิ่มความรู้สึกของการเป็นสมาชิกของแผ่นดินแม่ โดยจีนควรใช้ประโยชน์จากช่องทางสำคัญของความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าอย่างเต็มที่ เพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวจากฮ่องกงและมาเก๊าให้มาเรียน ทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ในแผ่นดินใหญ่ให้มากขึ้น
สุนทรพจน์นี้ของประธานาธิบดีสีมีขึ้นในโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปี ที่เมืองเซินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้ง ได้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ โดย ‘แคร์รี หล่ำ’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงก็เข้าร่วมงานดังกล่าวที่จัดขึ้นในเซินเจิ้นในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ด้วย โดยหล่ำได้ยกเลิกการแถลงนโยบายประจำปีที่เดิมต้องมีขึ้นในวันเดียวกันเพื่อเข้าร่วมงานกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำจีน และเลื่อนการแถลงนโยบายไปเป็นเดือน พ.ย. หลังจากการปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ในกรุงปักกิ่ง
รายงานระบุว่า บรรดากลุ่มธุรกิจแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ในการปกครองตนเองของฮ่องกง หลังจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เมื่อเดือน มิ.ย. ที่พุ่งเป้าปราบปรามการประท้วงฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยดำเนินไปต่อเนื่องหลายเดือนและเกิดเหตุรุนแรงขึ้นหลายครั้ง ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ก็มีขึ้นในขณะที่ฮ่องกงพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบและการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ทั้งนี้ เมืองเซินเจิ้นถือเป็นหมุดหมายสำคัญของยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA) ที่มีเป้าหมายประสานเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงและมาเก๊าเพื่อให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับภูมิภาคแข่งขันกับซิลิคอนวัลเลย์ โดยประธานาธิบดีสียังระบุว่าจีนควรที่จะเดินหน้าสนับสนุนสนุนและแนะนำเพื่อนร่วมชาติในฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน เช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลให้มีบทบาทสำคัญในการลงทุน ความเป็นผู้ประกอบการและการเปิดกว้างสองทาง เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมใหม่ๆ ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า ในมุมมองของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกง ยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เป็นยุทธศาสตร์ที่กร่อนทำลายวัฒนธรรมอันแตกต่าง วิถีชีวิตและคุณค่าด้านเศรษฐกิจของฮ่องกงต่อจีน รวมถึงยังลดความได้เปรียบของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางด้านการค้าและการเงินอีกด้วย โดยในเงื่อนไขของการส่งมอบฮ่องกงคืนสู่จีนเมื่อปี 2540 กำหนดให้จีนต้องรับรองอำนาจในการปกครองตนเองในระดับสูงของฮ่องกงไปจนถึงปี 2590 แต่ว่านับตั้งแต่เกิดการประท้วงเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลจีนก็ได้เดินหน้าอ้างสิทธิ์ในการเข้าควบคุมด้านต่างๆ พยายามทำให้ฮ่องกงใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับศูนย์กลางต่างๆ ของจีนมากขึ้น เช่น เมืองจูไห่ ซึ่งตอนนี้ถูกเชื่อมกับฮ่องกงด้วยสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งนักกิจกรรมและสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงบอกว่านี่จะยิ่งบ่อนทำลายอำนาจในการปกครองตนเองของฮ่องกงมากขึ้น
อ้างอิง Bloomberg / The Washington Post