ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ห่วงประชาชนได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโพดุล ขณะที่ รมว.เกษตรสั่งกรมฝนหลวงเร่งปฏิบัติเติมน้ำในเขื่อนก่อนสิ้นสุดฤดูฝน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ห่วงใยสวัสดิภาพของประชาชนหลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนภัยฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากจากอิทธิพลของพายุ 'โพดุล' ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยระยะนี้ โดยขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ อีกทั้งกำชับให้ทุกจังหวัดสำรวจสิ่งปลูกสร้าง เส้นทางระบายน้ำ พร้อมแจ้งข่าวแก่ประชาชนให้ทันท่วงทีเพื่อความปลอดภัย  

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก แหล่งน้ำต่างๆ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและลดจำนวนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจาก 48 จังหวัด เหลือ 18 จังหวัด 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามแก้ไขปัญหาพื้นที่บางจุดที่มีปริมาณน้ำน้อย อาทิ เขื่อนทับเสลา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนกระเสียว และปรับแผนระบายน้ำกรณีฉุกเฉินให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อป้องกันน้ำล้นในอ่างทุกขนาดด้วย

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุมัติโครงการเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งและอุทกภัย 74 จังหวัด วงเงิน 15,800 ล้านบาทนั้น กระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพหลักและต้องทำงานบูรณาการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมมาตรการและโครงการต่างๆ ให้พร้อมดำเนินการอย่างรวดเร็ว อาทิ โครงการสร้างอาชีพ การจ้างแรงงาน การซ่อมแซมปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำ การขุดเจาะเป่าล้างบ่อบาดาล ระบบส่งน้ำและระบบประปา โดยห้ามนำงบประมาณไปซื้อครุภัณฑ์ จัดสัมมนา จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลา 

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลในพื้นที่ฝนตกและน้ำหลาก รวมถึงเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคในภาคเหนือและภาคอีสาน

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ สั่งการให้กรมฝนหลวงเร่งปฏิบัติเติมน้ำในเขื่อนก่อนสิ้นสุดฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานที่เขื่อนขนาดใหญ่ในตอนกลางของภาคมีน้ำน้อย อีกทั้งให้รีบรายงานทันทีหากขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือ และอุปกรณ์ใดๆ ในการทำฝนหลวง สำหรับระยะเร่งด่วนนี้ได้ประสานงานกับเหล่าทัพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งอากาศยาน นักบินและกำลังพล เพื่อลำเลียงสารฝนหลวง ซึ่งทำให้สามารถบินปฏิบัติการได้บ่อยครั้งและทั่วถึงขึ้น