ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ ย้ำว่า “As long as I am in this position I will never let the army cross the line,” พร้อมทั้งย้ำว่า ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กองทัพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

และตราบใดที่ยังดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะไม่นำกองทัพข้ามเส้นก่อรัฐประหาร จะไม่ยอมให้เกิดการรัฐประหาร จะไม่ยอมให้เกิดการปฏิวัติโค่นอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ และยืนยันว่ากองทัพถอยออกมาจากการเมืองแล้ว หลังการเลือกตั้งและเสร็จสิ้นภารกิจ คสช.

การออกมากล่าวยืนยันของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่จะไม่ทำรัฐประหาร ถูกมองเป็น 2 ด้าน ทั้งการยืนยันจะไม่ทำจริงๆหรือเป็นการส่งสัญญาณบางหรือไม่ เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘ปัจจัย’ ในการทำรัฐประหารนั้นเปลี่ยนไป ทั้งดุลอำนาจในกองทัพ การปรับโครงสร้าง ทบ. ใหม่ การปรับหน่วยขุมกำลังปฏิวัติที่เปลี่ยนการขึ้นตรงใหม่

แต่สิ่งหนึ่งที่ยัง ‘จุดไฟปฏิวัติ’ ได้คือสถานการณ์ทางการเมืองที่สุกงอมเพียงพอ หนึ่งในนั้นคือความขัดแย้งที่ชัดเจน เช่นในอดีตที่มีการก่อม็อบพันธมิตร และ กปปส. เป็นตัวปูทางออกมา แต่สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไป ตัวละครทางการเมืองไม่ได้มีเพียง ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ อีกแล้ว แต่มี ‘พลังประชารัฐ-อนาคตใหม่’ มาตีคู่

โดยเฉพาะ ‘พลังประชารัฐ’ ที่ถือเป็นพรรคทหารโดยสมบูรณ์

ตอกย้ำความชัดเจนนี้ หลัง ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อดีตพี่ใหญ่ คสช. ขึ้นเป็น ประธานยุทธศาสตร์พรรค ที่ศักดิ์และบารมีเทียบเท่าหัวหน้าพรรค

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกสั้นๆว่า “No Comment” ว่าตัดสินใจไปนั่ง ประธานที่ปรึกษาพรรคฯ หรือไม่ ?

แต่ในเวลานี้ก็ได้ ‘ผู้กองมนัส’ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในฐานะ ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พปชร. ที่เป็น ‘มือประสานสิบทิศ’ ในการไปคุยกับพรรคต่างๆ เพื่อสมานรอยร้าวและสยบคลื่นใต้น้ำ

เพราะฝ่ายการเมืองต่างม��ความ ‘เกรงใจ’ ร.อ.ธรรมนัส กันไม่น้อยในเวลานี้

เรียกได้ว่า ‘ราศีจับ’ ร.อ.ธรรมนัส เป็นอย่างมาก

และต่างทราบดีว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล้าดัน ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นเป็น ‘รัฐมนตรี’ มีเหตุผลใดอยู่

แม้จะมีการขุดเรื่องในอดีตขึ้นมาในเวลานั้น ซึ่งเวลาก็ได้พิสูจน์ทุกอย่างแล้ว

9พรรคเล็ก ธรรมนัส

ในเวลานี้ คสช. ได้กลายร่างสู่สนามการเมืองผ่านระบบ จนมีการกล่าวว่าเป็นยุค ‘คสช.ครึ่งใบ’ ไม่ต้องอาศัยพรรคนอมินีเช่นในอดีต อย่างพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อีกแล้ว

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้ง ‘พปชร.-ปชป.’ ก็อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วยกันทั้งคู่

ซึ่ง ปชป. ถูกจับตาว่าจะ ‘พายเรือหนี’ กลางทางหรือไม่ ?

รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ซึ่งก็มีการเตือน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ระวังพวกเดียวกันหรือสนิมเนื้อในด้วย

แต่พรรคที่ถูกจับตาจาก พล.อ.อภิรัชต์ คือ พรรคอนาคตใหม่ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ระบุชื่อพรรค แต่ต่างเชื่อว่ามีเป้าหมายไปยังพรรคเกิดใหม่นี้ นับจากปรากฏการณ์ ‘ซ้ายจัด ดัดจริต’ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ซัดกลุ่มคนไปเรียนเมืองนอกแล้วมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ ให้ความสำคัญกับการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศอย่างมาก เพราะเคยนัดสัมภาษณ์สื่อต่างประเทศหลายสำนักที่ บก.ทบ.ราชดำเนิน ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ย้ำถึงการปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ หลังทิ้งวาทะ ‘ซ้ายจัด ดัดจริต’ กับสื่อไทยไว้

ประยุทธ์ กองทัพ ทหาร อภิรัชต์ 190805121551000000.jpg

ล่าสุดการให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ แม้จะไม่ระบุถึงพรรคใด แต่ก็มีการพุ่งเป้าไปที่พรรคอนาคตใหม่

โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้ระบุถึง บางพรรคที่เพิ่งก่อตั้ง 1-2 ปี มีรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อที่สื่อสารโดยตรงกับประชาชนที่อยู่ในวัย 16-17 ปี โดยพยายามให้ความรู้ประชาชนกลุ่มนี้โดยใช้ข่าวปลอม ในขณะนี้กองทัพกำลังต่อสู้กับ “สงครามลูกผสม” (Hybrid War) ที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่ใช้ “ข่าวปลอม”(Fake News) หลอกล่อให้คนไทยรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพและสถาบันกษัตริย์ เปรียบเทียบกับสมัยคอมมิวนิสต์ช่วงปี 2513 - 2523 ที่มาสู่โลกอินเทอร์เน็ตแทน

เรื่องราวเหล่านี้ถือเป็น ‘ปมสำคัญ’ ของพรรคอนาคตใหม่ที่ผลักไม่พ้นตัวเสียที

แม้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะถูกระงับการทำหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว แต่ก็เดินทางลงพื้นที่ ขึ้นเวที และเดินทางไปต่างประเทศต่อเนื่อง ที่สำคัญให้สัมภาษณ์สื่อนอกหลายสำนัก ถึงสถานการณ์ในไทย โจมตีกองทัพ-คสช. ขณะที่พล.อ.อภิรัชต์ ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงใช้ช่องทางนี้สื่อสารตอบโต้กลับ รวมถึง อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เช่นกัน ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศถึงสถานการณ์ในไทยด้วย

แต่อย่าลืม ‘สถานะสำคัญ’ ของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่มีอยู่ด้วย เสียงที่ออกจาก พล.อ.อภิรัชต์ จึงมีความหมายและนัยนะสำคัญทางการเมือง การส่งสัญญาณของ พล.อ.อภิรัชต์ ช่วง 10 เดือนในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ทำให้เห็นภาพการเมืองอย่างชัดเจนขึ้น

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แนบแน่น ด้วยความไว้วางใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีให้ พล.อ.อภิรัชต์ มาตั้งแต่เป็น ผู้การ ร.11 รอ. และผ่านศึกการเมืองมาด้วยกันตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านม็อบสีเสื้อ จนชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ ติดแบล็คลิสต์คนเสื้อแดง มาถึงยุค คสช. รวมทั้งก่อนเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 เพียง 1 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขยับ พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ที่เป็นขุมกำลังปฏิวัติในอดีตและดูแลพื้นที่กรุงเทพฯด้วย

แม้ พล.อ.อภิรัชต์ จะเกษียณฯ ก.ย. 2563 แต่บทบาทยังคงถูกจับตา ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่อะไรจะเกิดขึ้นได้ บทบาทหลังเกษียณฯจึงถูกจับตาไปด้วย จะรับตำแหน่งสำคัญใดในอนาคต และสถานการณ์ในเวลานั้นจะเป็นอย่างไร

ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ 88467488015322_2924042382548664320_n.jpg

(พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 )

ส่วนตำแหน่ง ผบ.ทบ. คนต่อไปในเวลานี้ ชื่อเต็งหนึ่งยังคงเป็น พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะขึ้นเป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ. ตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. ในการโยกย้าย ต.ค.นี้ เกษียณฯปี 2566 เพื่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์ ที่เกษียณฯปี 2563

ส่วนแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ถูกจับตาคือ พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพน้อยที่ 1 ส่วน พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.พล.1 รอ. และ พล.ต.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.พล.ม.2 รอ. ที่จะขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1

ส่วนอีกตำแหน่งที่ถูกจับตาคือ ผบ.ทหารสูงสุด ที่มีชื่อ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. ที่จะข้ามห้วยไปเป็น เสธ.ทหาร ก่อนขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในปี 2563 แต่ในรั้ว บก.กองทัพไทย ก็มีคนในต่อคิวขึ้นอยู่ด้วย ซึ่งรายชื่อทั้งหมดนี้ล้วนผ่านหลักสูตรการฝึกทหารมหาดเล็กราชวัลลภ

ถือเป็นโผทหารแรกใน ‘ครม.ตู่รีเทิร์น’ ที่ต้องจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะจัดอย่างไร เพื่อวางสมดุลภายในกองทัพ ที่ย่อมมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคต

โดยสถานการณ์ทั้งในและนอกกองทัพนั้นคู่ขนานกันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องรับมือให้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog