ไม่พบผลการค้นหา
'หมออุดม' แจงโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ย้ำประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง กระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 เผยหลังยุบศบค. มอบหมายกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่ตามมติ ครม.

วันที่ 23 ก.ย. 2565 นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าประชุม ศบค.ว่า ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เข้าโรงพยาบาลประมาณ 900 ราย และตรวจพบจาก ATK เข้าระบบประมาณ 10,000 ราย แต่ตนเชื่อว่าตอนนี้มีผู้ติดเชื้อประมาณ 30,000 - 40,000 รายต่อวัน แต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง 

นพ.อุดม กล่าวอีกว่า ตอนนี้เปลี่ยนจากโรคติดต่อร้ายแรงไปเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ถึงกับโรคประจำถิ่น ทั้งนี้การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังจะทำให้สบายขึ้นเยอะ เพราะมาตรการผ่อนคลายไปเกือบหมด แต่ย้ำว่า ประชาชนก็ต้องดูแลตนเอง เพราะยังมีรายงานผู้ติดเชื้ออยู่ 30,000 - 40,000 ราย แต่อัตราการตายของบ้านเราอยู่เพียงแค่ 0.1% ซึ่งต่ำกว่าทั้งโลกที่อัตราการตาย 1% แต่กระนั้นใน 0.1% ก็ไม่อยากให้ใครตาย 

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า เพราะการติดเชื้อโควิด-19 มันทำให้เกิดอาการลองโควิด และทำให้เกิดการบั่นทอนสุขภาพ และการทำงาน ดังนั้นที่ประชุม ศบค. เราจะคุยเรื่องแผนเปลี่ยนผ่าน เพียงแต่ว่าในมาตรการระดับประเทศ เราผ่อนคลายลง ไม่ตรวจ ATK และไม่ดูวัคซีนว่าฉีดหรือไม่ แต่ประชาชนต้องดูแลตนเอง เพราะเชื่อว่า โควิด-19 อย่างน้อยจะอยู่กับเราไปไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ต้องใส่แมสก์ เว้นระยะห่าง และประเมินความเสี่ยงตนเอง 

นพ.อุดม ยังย้ำเรื่องวัคซีนโควิด-19 อีกว่า ประโยชน์ของวัคซีนมี 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าตัวเรา แม้ว่า ตอนแรกจะป้องกันได้ถึง 70-80% แต่พอเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ระดับการป้องกันเหลือเพียง 20-30% แต่ก็ยังถือว่าดีอยู่ ระดับที่สอง คือ ป้องกันให้ไม่แพร่เชื้อไปคนอื่น และสามารถทำกิจกรรมได้ ส่วนระดับสามคือ ไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง และไม่ตายถึง 90% อีกทั้งถ้าฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3-4 จะป้องกันลองโควิดได้ แต่ตอนนี้เข็มกระตุ้นของประชาชนทั้งประเทศยังไม่ถึง 50% ดังนั้นต้องทำให้ได้อย่างน้อยเข็ม 3 ก็ยังดี 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีระบาดระลอกใหม่จะมีการจัดการอย่างไร นพ.อุดม ตอบว่า ไม่กลัว เพราะเราอยู่กับโควิด-19 มา 3 ปี จึงมีระบบที่เตรียมการไว้แล้ว ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงอื่นๆ ที่อยู่นอกการควบคุมก็เช่นกัน แต่ระบบที่เตรียมการไว้ได้เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป หากมีการยุบ ศบค. ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมอบหมายกระทรวงต่างๆ ให้ทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไปโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อน รวมถึงระยะยาวจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้มันมีโครงสร้างเหมือน ศบค. อยู่ 

เมื่อถามว่า สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดสูญญากาศหรือไม่ นพ.อุดม ตอบว่า ที่ผ่านมาตนได้มีการเสนอนายกฯ ให้ออกเป็น พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อประกาศไปก่อนได้ แล้วค่อยเข้าสู่สภา 

ยืนยันว่าหลังวันที่ 1 ต.ค. 2565 การทำงานจะไม่มีปัญหา เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาสุญญากาศ แม้จะไม่ได้เข้มข้นเหมือนมี ศบค. แต่กระทรวงต่างๆ ทำงานกันอยู่ตลอด