ฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "จากเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายได้กลายเป็นหายนะที่มนุษย์สร้างขึ้น" ทั้งนี้ พายุไซโคลนโมคาได้พัดถล่มเมียนมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมันได้สร้างความเสียหายและคร่าชีวิตคนหลายร้อยคน
เอจอทพยู ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองซิตตเว เมืองหลวงของรัฐยะไข่ ซึ่งก็ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนโมคาได้กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า "ฝนตกทั้งอาทิตย์ ลำบากทุกวัน และลูกต้องเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีแม้กระทั่งหลังคา"
จากจำนวนประชากร 5.4 ล้านคนในเมียนมาที่อยู่ในเส้นทางของพายุไซโคลนโมคา มีประชากรเกือบ 3.2 ล้านคนที่ถือเป็น "กลุ่มเปราะบางที่สุด" ตามข้อมูลของสหประชาชาติ ทั้งนี้ รัฐยะไข่เป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของประเทศ โดยจากการประมาณการครั้งล่าสุดของธนาคารโลกในปี 2562 มีประชากรประมาณ 78% อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
เอจอทพยู ได้กล่าวว่า “เราต้องการให้รัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ประสบภัย” โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดพายุ เธอบอกว่าผู้ประสบภัยได้รับข้าว น้ำสะอาด และน้ำมันจากภายนอก ซึ่งความช่วยเหลือยังคงมีมาต่อเนื่องจนถึงวันที่ 8 มิ.ย. จนกระทั่งกองทัพเมียนมาสั่งห้ามการขนส่ง ต่อกลุ่มช่วยเหลือที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถส่งความช่วยเหลือต่อไปในพื้นที่ได้
เผด็จการทหารเมียนมาไม่เคยอธิบายว่า ทำไมพวกเขาถึงปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่โฆษกรัฐบาลยะไข่ระบุกับสื่อท้องถิ่นว่า พวกเขาต้องการจัดการแจกจ่ายความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม ซึ่งเผด็จการทหารได้อ้างว่าที่ผ่านมานั้น ความช่วยเหลือนั้นไม่ได้รับการจัดการอย่างยุติธรรม
“NGO จะช่วยเหลือเพียงชุมชนมุสลิมเท่านั้น” โฆษกรัฐบาลยะไข่กล่าวถึงชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทั้งนี้ เมียนมามีประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ และได้ปฏิเสธการให้สัญชาติโรฮิงญา ตลอดจนมองว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพที่ไม่ได้รับอนุญาตจากบังกลาเทศ
สหประชาชาติประเมินว่า ชาวโรฮิงญามากกว่าครึ่งล้านคนยังคงอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ โดย แคลร์ กิบบอนส์ จาก Partners Relief & Development องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้กล่าวว่า "มันเป็นสื่งที่เราพบมาจริงๆ กับการที่ทหารเมียนมาได้วางอุปสรรคในการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และลดทอนสิทธิมนุษยชนของชุมชนอย่างจริงจัง" ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่กล่าวว่า ชีวิตหลังพายุไซโคลนนั้นยากลำบากมาก อีกทั้งยังรวมถึงปัญหาความขัดแย้งยาวนานหลายทศวรรษ ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ที่มีชาวพุทธส่วนใหญ่และชาวโรฮิงญา
นับตั้งแต่เกิดพายุไซโคลน ชาวบ้านจำนวนมาก รวมทั้งหญิงวัยแรงงาน ได้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางไปโรงพยาบาล เนื่องจากการเดินทางไปโรงพยาบาลนั้นเป็นไปอย่างยากลำบากและต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้ กิบบอนส์ได้กล่าวอีกว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เผด็จการทหารได้ระงับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และเผด็จการทหารเมียนมายังเคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน ในเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 คน
กิบบอนส์มองว่าเหตุผลหนึ่งที่กองทัพเมียนมาระงับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ เนื่องจากพวกเขาต้องการควบคุมการไหลเวียนของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เข้ามายังเมียนมาซึ่งถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก กิบบอนส์ยังได้กล่าวอีกว่า “พวกเขายังตั้งเป้าที่จะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับตอนที่เกิดพายุไซโคลนนาร์กีส ความช่วยเหลือบางส่วนที่ได้รับจากประเทศต่างๆ ถูกนำไปขายในตลาด ทำให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้จากความช่วยเหลือนั้น”
หลังจากที่เผด็จการทหารเมียนมาได้ปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ได้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่ต้องการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ลดการ “ให้ความไว้วางใจอันล้นเกิน” กับเผด็จการทหาร โดยเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในท้องถิ่นได้กล่าวว่ากลุ่มนานาชาติควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับชาวบ้านโดยตรง ซึ่งบางฝ่ายแนะนำว่าให้พึ่งพากลุ่มต่อต้านติดอาวุธแทนเผด็จการทหาร ตัวอย่างเช่น กองทัพอาระกันได้จัดตั้งหน่วยงานด้านมนุษยธรรมของตนเองเพื่อตอบสนองต่อพายุไซโคลน
ที่มา: