กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และจังหวัดหนองบัวลำภู จัดแถลงข่าวการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ 11 ของประเทศไทย โดยมีนายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และนายอดุลย์ สมาธิ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ สะพานเชื่อมฮัก @ ตาดไฮ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
ซึ่งการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย "วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส" (Vayuraptor nongbualamphuensis) หรือ ไดโนเสาร์จ้าวลมกรด มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4-4.5 เมตร อายุ 130 ล้านปีค้นพบที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ จังหวัดหนองบัวลำภู โดยนายพลาเดช ศรีสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2531 ชื่อสกุลของ วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส มาจากภาษาสันสกฤต วายุ หรือพระพาย เทพแห่งลม ผสมกับ raptor ภาษาลาติน แปลว่า หัวขโมย สื่อถึงไดโนเสาร์ที่มีความเร็วปราดเปรียว ตั้งขึ้นตามลักษณะขาหลังที่ยาวเรียว ส่วนชื่อชนิด ตั้งตามจังหวัดที่ค้นพบ
วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนกมากกว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อื่นๆ ชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบประกอบด้วย กระดูกหน้าแข้งและข้อเท้า กระดูกคอราคอยด์ กระดูกซี่โครง กระดูกหัวหน่าว กระดูกฟิบูล่า และนิ้ว
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณียังได้พัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดสร้างพิพิธภัณฑ์และอาคารคลุมหลุมขุดค้น 2 แห่ง ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์หลากหลายประเภท ได้แก่ กระดูกไดโนเสาร์ ฟันฉลามน้ำจืด เกร็ดปลา กระดองเต่า จระเข้ หอยน้ำจืด รอยตีนไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหิน และมอบให้ทางอุทยานฯ เป็นผู้ดูแลใช้ประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญ อาทิ ชิ้นซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก วายุแรพเตอร์ หนองบัวเอนซิส ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการประกาศให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ เคยมีการขุดพบฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ในประเทศไทยแล้วกว่า 16 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก 11 ชนิด ได้แก่
ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae)
กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khonkaennsis)
สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni)
อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi)
ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki)
สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami)
สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)
ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)
ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi)
และ วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis)