ครั้งล่าสุดที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1964 ญี่ปุ่นสร้างความตื่นตาให้กับผู้ชมงานด้วยรถไฟชินคันเซ็น รถไฟหัวกระสุน ที่กลายเป็นภาพแทนของการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ญี่ปุ่นได้ใช้โอลิมปิกในครั้งนั้นเป็นเวทีประกาศตัวเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่หน้าจอแอลซีดีของชาร์ป ตลอดจนเครื่องเล่นเพลงโซนีวอล์กแมน ในอดีตทำให้ญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ของผู้นำด้านนวัตกรรมที่ยากจะมีใครเทียบได้ ทว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ เราก็ได้เห็นบรรดายักษ์ใหญ่จากซิลิคอนวัลเลย์ รวมถึงบริษัทจากจีนและเกาหลีที่ไล่ตามทันความก้าวหน้าของญี่ปุ่นกันแล้ว
โยโกะ อิชิคุระ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมรรถภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮิโตซึบาชิ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งเลยคือ การที่ประเทศญี่ปุ่นคิดว่าตัวเองยังมีความสร้างสรรค์นวัตกรรมอยู่ แต่เมื่อมองดูประเทศอื่นๆ ในโลกแล้ว จะพบว่าเราไม่ได้มีความเป็นนวัตกรรมอยู่เลย
"น่าเป็นห่วงนะ ที่เห็นชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก แทบไม่รู้อะไรเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างนอกประเทศ" อิชิคุระ กล่าว
ผู้มาเยือนญี่ปุ่นมักจะต้องทึ่งกับความล้าสมัยของเทคโนโลยีในแดนอาทิตย์อุทัย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คร่ำครึอย่างโทรศัพท์มือถือฝาพับ และเครื่องแฟกซ์ที่ยังคงใช้กันอยู่แพร่หลายในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทต่างๆ ก็พยายามเร่งปรับเปลี่ยนเรื่องนี้
มาสะ ทาคายะ โฆษกของการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของโอลิมปิก 2020 นั้นรวมไปถึงความพยายามจะทำงานนี้เป็นโอลิมปิกที่มีความเป็นนวัตกรรมที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วย
มาซาโนริ มัตสึชิมะ ผู้จัดการแผนกโอลิมปิกของพานาโซนิกส์ กล่าวว่า บรรดาบริษัทในญี่ปุ่นกระตือรือร้นที่ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
ทันทีที่แขกของประเทศมาถึงสนามบิน พวกเขาจะได้รับการต้อนรับจากหุ่นยนต์ที่สื่อสารได้หลายภาษา ซึ่งจะคอยช่วยเหลือพวกเขา และมีเก้าอี้อัตโนมัติที่จะพาพวกเขาไปยังจุดหมายซึ่งกำหนดไว้ด้วยสมาร์ตโฟน
ทางพานาโซนิกกำลังพัฒนาระบบแปลภาษาอัตโนมัติที่จะนำไปใช้โต้ตอบกันได้อยู่ เมื่อคนสองคนพูดคุยกันผ่านหน้าจอด้วยภาษาของตัวเอง คำแปลจะปรากฏขึ้นที่หน้าจอของอีกฝ่ายโดยทันที
เอ็นอีซี บริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของญี่ปุ่นก็จะปล่อยระบบจดจำใบหน้าซึ่งระบุตัวตนของคนได้ภายใน 0.3 วินาที เพื่อนำระบบนี้ไปใช้กับคนจำนวน 300,000 ราย ซึ่งประกอบด้วยนักกีฬา สตาฟงาน และสื่อมวลชน คาดว่าจะทำให้การตรวจเข้างานเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และเป็นการเสริมทัพระบบรักษาความปลอดภัย
สำหรับเอ็นเอชเค องค์กรแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของของรัฐบาลญี่ปุ่น มีแผนจะถ่ายทอดภาพการแข่งขันไปยังผู้ชมทั่วโลกด้วยความละเอียดสูงยิ่งยวดระดับ 8K โดยทางเอ็นเอชเคเคยเผยแพร่ภาพรายการซึ่งมีความคมชัด 8K ไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2018 เป็นการอุ่นเครื่องก่อนโอลิมปิกที่จะมาถึง
คอกีฬาก็จะได้สัมผัสประสบการณ์เต็มอรรถรส ด้วยบรรดาอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวขั้นสูงซึ่งให้ข้อมูลตำแหน่งของบอล อัตราการเต้นของหัวใจ และการเคลื่อนไหวของนักกีฬา บริษัท ฟูจิตสึ ซึ่งเป็นผู้นำด้านไอทีเองก็ทำงานร่วมกับสหพันธ์ยิมนาสติกสากลในการป้อนข้อมูลการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือกรรมการในการตัดสินการแข่งขันด้วย
หนึ่งในภาคส่วนที่คงไม่ยอมพลาดในการใช้งานโอลิมปิกเป็นเวทีโชว์ตัว คืออุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง ยาสุโนบุ เซกิ ผู้จัดการทั่วไปในแผนกดูแลงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกของโตโยต้า กล่าวว่า โตโยต้าจะเปิดตัว อี-พาเลตต์ (e-Palette) รถยนต์ไร้คนขับปราศจากพวงมาลัย ซึ่งจะวิ่งไปในพื้นที่ๆ กำหนดไว้
ออลนิปปอนแอร์เวย์ ได้ทดสอบรถบัสไร้คนขับเมื่อไม่นานนี้ที่สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว และบริการแท็กซี่ไร้คนขับเองก็คาดว่าจะสามารถใช้งานได้เต็มตัวทันงานโอลิมปิกครั้งนี้
นอกจากนี้ โอลิมปิกยังเป็นโอกาสที่บรรดาบริษัทยานยนต์จะได้อวดโฉมเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับยานยนต์พลังงานสะอาดอีกด้วย
"ประเด็นคือ การโชว์ว่ายานยนต์พลังงานไฮโดรเจนนั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกๆ คนได้ และทำให้ผู้คนที่มาชมโอลิมปิกครั้งนี้รับเอาความคิดนี้กลับไป" เซกิ จากโตโยต้า กล่าว
ทางด้านข่าวลือเองก็แว่วกันมาว่า จะมีการใช้รถเหาะในการจุดคบไฟโอลิมปิก แต่กลุ่มผู้จัดงานยังยืนกรานว่าอย่างน้อยพวกเขาก็ยังไม่มีแผนจะทำอย่างนั้นในตอนนี้
ที่มา : Japan eyes 2020 Olympics to retake place on tech podium