ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “การเลือกตั้งแบบทรีอินวันกับผลทางการเมืองและการใช้สิทธิของประชาชน” ตามโครงการวิจัยประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยกลุ่ม first vote หรือกลุ่มคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกจำนวน 7 ล้านคน มี 4 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งอาจมีพฤติกรรมแบบเดิม คือเลือก ส.ส.ตามคนในครอบครัว หรือเลือกจากการส่งผ่านโดยคนในครอบครัว
นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า แสดงความเป็นห่วงเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลการสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าพบว่า ประชาชนจะเลือกผู้สมัคร ส.ส. โดยจำชื่อและนามสกุลเป็นหลัก แต่กลับกลายเป็นว่าในบัตรเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่มีชื่อของผู้สมัคร ซึ่งหากผู้สมัครรายนั้นย้ายพรรคที่สังกัด ย่อมส่งผลถึงเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิ์ที่อาจผิดเพี้ยนไป
ขณะเดียวกันยังพบว่า คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ประชาชนไม่สนใจว่าจะมีวาทศิลป์ในการพูด หรือไม่ต้องพูดเพราะก็ได้ เช่นเดียวกันกับประสบการณ์ทางการเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง และที่สำคัญคือความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติในด้านนี้ ไม่จำเป็นต้องพูดได้ เพราะสามารถใช้ล่ามในการสื่อสารแทน
นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตั้งข้อสังเกตุว่า การเลือกตั้งแบบทรีอินวันนี้ จะสะท้อนความเป็นอิสระของประชาชนในการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะอาจกลายเป็นทูอินวัน เหตุเพราะมีด่าน ส.ว. 250 คน ที่ทำให้ไม่ได้ตัวนายกรัฐมนตรีตามที่ประชาชนต้องการ ขณะที่แนวโน้มการเลือกตั้งที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งที่ต้องมีความเสถียร เพราะการเลือกตั้งใน 27 ครั้งที่ผ่านมาระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด