ไม่พบผลการค้นหา
ยูเอ็นเผชิญปัญหาการทูต หลังต้องตัดสินใจว่าจะยอมรับใครคือทูตเมียนมา ระหว่าง 'จอโมตุน' ผู้แทนรัฐบาลพลเรือน กับบุคคลที่กองทัพแต่งตั้ง

หลังจากที่ 'จอโมตุน' ผู้แทนเมียนมาประจำสหประชาชาติซึ่งได้ออกแถลงการณ์ในฐานะผู้แทนจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มมาตรกดดันสกัดกองทัพเมียนมา เพื่อยุติการใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกลางเวทีประชุมสหประชาชาติ พร้อมชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว จนเป็นเหตุให้ภายหลัง คณะรัฐประหารมีคำสั่งปลดจอโมตุนพ้นตำแหน่งผู้แทนยูเอ็น โดยอ้างเหตุผลว่าจอโมตุนเป็นผู้ทรยศต่อชาติ พร้อมประกาศว่าแต่งตั้งผู้ช่วยของจอโมตุน ขึ้นเป็นผู้แทนคนใหม่แทน

แตทว่าในจดหมายที่เขาเขียนถึงโวลคาน บอซเคียร์ ประธานที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าเขายังทำหน้าที่ ผู้แทนเมียนมาต่อไป โดยชี้แจงว่า "คณะรัฐประหารซึ่งอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิเพิกถอนคำสั่งอันชอบธรรมด้วยกฎหมายที่มีมาจากประธานาธิบดี" โดยอันโตนีโอ กูเตอร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติ ต่างได้รับจดหมายชี้แจงดังกล่าวจากจอโมตุนเช่นกัน 

อีกด้านหนึ่งทั้ง บอซเคียร์ และกูเตอร์เรซ ต่างก็ได้รับจดหมายจากกระทรวงต่างประเทศเมียนมาซึ่งไม่รับรองจอโมตุนเป็นผู้แทนเมียนมาอีกต่อไป โดยให้มีผลตั้งแต่ 27 ก.พ.เป็นต้นไป ทั้งยังได้แต่งตั้งนายถิ่นหม่องหน่าย ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน

อย่างไรก็ตาม ด้านสเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกของยูเอ็นแถลงในประเด็นนี้โดยยังไม่ชัดเจนว่า ยูเอ็นจะรับรองให้ใครคือผู้แทนเมียนมาอย่างเป็นทางการหรือไม่ เนื่องหากแสดงท่าทีรับรองผู้แทนที่กองทัพแต่งตั้ง เท่ากับเป็นการยอมรับอย่างกลายๆว่ายูเอ็นรับรองรัฐบาลทหารที่มีจากการยึดอำนาจ

"พูดกันตามตรง เราอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกซึ่งเราไม่ได้เห็นมานานแล้ว เรากำลังพยายามลำดับความสำคัญของระเบียบการทางกฎหมาย และประเมินผลกระทบอื่น ๆ ทั้งหมด ยูเอ็นพยายามจะแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเร็วที่สุด" ดูจาร์ริคกล่าว 


'จอโมตุน' หรือ 'ถิ่นหม่องหน่าย' ?

ในทางปฏิบัติแล้ว ทั้งจอโมตุนและถิ่นหม่องหน่าย ต่างมีหนังสือรับรองจากรัฐบาลต้นสังกัดที่จะเข้าไปภายในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ แต่สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือใครเป็นผู้มีสิทธิร่วมประชุมในฐานะผู้แทนเมียนมาอย่างเป็นทางการ โดยในอดีตหากเกิดกรณีขัดแย้งลักษณะนี้ คณะกรรมาธิการของยูเอ็นจะเป็นผู้กำหนดว่าใครเป็นผู้ถือหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นผู้แทนของประเทศนั้นๆ แต่เมื่อถามถึงกระบวนการรับรองหลังจากนี้ โฆษกยูเอ็น ก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว โดยอธิบายว่า ตามขั้นตอนปกติแล้วยูเอ็นต้องได้รับแจ้งอย่างป็นทางการเกี่ยวกับการเปลี่ยนผู้แทนของรัฐบาล แต่หากมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในข้อมูลเกี่ยวกับผู้แทนคนใด คณะกรรมาธิการยูเอ็นจะเป็นผู้พิจารณาว่าเหมาะสมที่จะร่วมวงประชุมสมัชชาสหประชาชาติหรือไม่ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจยิ่งทำให้วิกฤตเมียนมาครั้งนี้ 'ซับซ้อน' และใช้เวลา 'นานขึ้น'

สำหรับสหรัฐฯ แล้วเมื่ออังคารที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ถึงขณะนี้วอชิงตันยังเข้าใจว่า จอโมตุน ยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้แทนถาวรเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ที่มา: Reuters , CNN , CNA