วันนี้ (1 สิงหาคม 2567) ณ ห้องประชุมชีนิมิตร สำนักการระบายน้ำ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมการป้องกันและรับมือน้ำท่วม โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและแผนการรับมือน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดังนี้ ปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 กรกฎาคม 2567 จำนวน 634.0 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 21.8% ส่วนการรับมือเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมบริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 737 แห่งประกอบด้วย
1.ดำเนินการล้างท่อระบายน้ำ จำนวน 4,260 กิโลเมตร
2.ดำเนินการล้างคลอง จำนวน 1,956 กิโลเมตร
3.ดำเนินการขุดลอกคลอง จำนวน 217 กิโลเมตร
นอกจากนั้น กรุงเทพฯ ได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ดังนี้
1.สถานีสูบน้ำ จำนวน 195 แห่ง
2.บ่อสูบน้ำจำนวน 376 แห่ง
3.ประตูระบายน้ำจำนวน 248 แห่ง
ส่วนภาพรวมผลการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำเหนือหลากและน้ำหนุนทะเล ดำเนินการเสร็จแล้ว ทั้งสิ้น 64 แห่ง จากทั้งหมด 120 แห่ง
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า เนื่องจากปีนี้มีปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่กรุงเทพมหานครในช่วงเดือนนี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น รัฐบาลและกรุงเทพมหานคร จึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนและในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ
นายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กทม. และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึง กทม. เฝ้าระวังและประกาศเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เตรียมช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์เฉพาะหน้าทั้งกรณีน้ำท่วมและการระบายน้ำ จัดหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำที่รอการระบาย พร้อมรับมือน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน รวมถึงการควบคุมปริมาณน้ำในคลองต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม เช่น การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง การขุดลอกท่อระบายน้ำ และทางน้ำไหล การขจัดขยะและวัชพืชตามท่อระบายน้ำต่างๆ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาติดขัดกรณีที่มีฝนตกในพื้นที่ในจำนวนมาก
โดยเน้นย้ำให้ กทม. ต้องร่วมมือกับทางหน่วยงานปกครอง (ปภ) กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรนน้ำ ตลอดจนหน่วยงานความมั่นคง สนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ในทุกมิติ โดยเฉพาะในพื้นที่สุ่มเสี่ยง และชุมชนแออัด ซึ่งคาดว่าจะเกิดน้ำท่วมอย่างแน่นอน ขอให้ กทม.กำหนดจุด วางแผน เตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือ พร้อมเฝ้าระวัง แก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมห้องนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริด้านการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมเขตกรุงเทพมหานคร และตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมระบบน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร แบบ Real Time