ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำทั่วโลกต่างออกแถลงการณ์รำลึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเครือจักรภพ หลังการสวรรคตด้วยพระอาการสงบ ณ ปราสาทบัลมอรัล สกอตแลนด์ สิริพระชนมายุ 96 พรรษา คำรำลึกของผู้นำทั่วโลกต่างยกย่องการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันแน่วแน่ และการมีความยืดหยุ่นของพระองค์ เช่นดียวกันกับการมีพระราชอารมณ์ขัน ตลอดจนการมีพระทัยดี

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวรำลึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่าทรงเป็น “พระราชินีนาถผู้พระทัยดี” อีกทั้งยังทรงเป็น “มิตรของฝรั่งเศส”

ในขณะที่ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรง “สะกดโลกทั้งใบ” ด้วย “การครองราชย์ที่เผยถึงภาพพระเกียรติ ความสง่างาม และการทรงมีจรรยาบรรณในการทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

“ครั้งแล้วครั้งเล่า เรารู้สึกประทับใจกับความอบอุ่นของพระองค์ วิธีที่พระองค์ทำให้ผู้คนสบายใจ และวิธีที่พระองค์นำพระอารมณ์ขันและเสน่ห์ของพระองค์มาสู่ช่วงเวลาและสถานการณ์แห่งความโอ่อ่าตระการ” โอบามากล่าวถึงครั้งที่ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน เรียกสมเด็จพระราชินีนาถว่าทรงเป็น “มากกว่าพระมหากษัตริย์ พระองค์คือภาพแห่งยุคสมัย” ทั้งนี้ มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ กว่า 13 คน ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตลอดพระชนม์ชีพ

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า ตนจะ “ไม่มีวันลืมมิตรภาพที่ดี พระปัญญาอันแหลมคม และพระอารมณ์ขันอันงดงามของสมเด็จพระราชินีนาถ” ก่อนระบุว่า “ทรงเป็นหญิงที่งดงามและยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง ไม่มีใครเหมือนพระองค์ได้”

ในอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บูช ได้กล่าวถึงช่วงเวลาอันแสนพิเศษของตน ในการได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ดื่มน้ำชากับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมกับกับสุนับคอร์กี้ทรงเลี้ยง บูชระบุว่าพระองค์นั้นมี “สติปัญญา เสน่ห์ และไหวพริบอันสุดยอด”

ในขณะที่แคนาดา หนึ่งในรัฐเครือจักรภพ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีภายใต้องค์พระประมุขสหราชอาณาจักรอย่างสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กว่า 12 คนที่ผ่านมานั้น จัสติน ทรูโด ได้ออกแถลงการณ์ด้วยความเศร้าโศกว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมี “ความรักอันลึกซึ้งและยั่งยืนอย่างชัดเจนต่อชาวแคนาดา”

“ในโลกที่สลับซับซ้อน ความสง่างามและความตั้งใจแน่วแน่ของพระองค์นำความสบายใจมาสู่พวกเราทุกคน” ทรูโดกล่าวถึงพระราชินีนาถ พร้อมย้ำว่าตนจะคึดถึง “การพูดคุย” กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งพระองค์นั้น “ช่างคิด ฉลาด อยากรู้อยากเห็น ช่วยเหลือดี ตลก และอื่นๆ อีกมากมาย” ทรูโดกล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับการกลั้นน้ำตาว่า “พระองค์เป็นหนึ่งในบุคคลที่ผมชอบที่สุดในโลก และผมจะคิดถึงพระองค์อย่างมาก” 

ธงชาติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถูกลดลงเหลือครึ่งเสา เพื่อถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมถึงที่ทำการคณะกรรมาธิการยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมด้วย โดย อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “ความเห็นอกเห็นใจและความสามารถในการเชื่อมต่อกับคนทุกชั่วอายุ ในขณะที่ยังคงหยั่งรากในประเพณีที่มีความสำคัญต่อพระองค์อย่างแท้จริง คือตัวอย่างของความเป็นผู้นำที่แท้จริง”

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ 5 ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสว่า พระองค์พร้อมกับพระราชินีมาซิมา จะระลึกถึงพระราชินีนาถที่ “มั่นคงและเฉลียวฉลาด” ด้วย “ความเคารพอย่างสุดซึ้งและความรักอันยิ่งใหญ่”

สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตรัสถึงพระราชินีนาถว่า “พระองค์ทรงเป็นที่รักของครอบครัวของข้าพเจ้ามาเสมอ และเป็นความสัมพันธ์อันล้ำค่าในประวัติครอบครัวที่เรามีร่วมกัน”

สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป และสมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม ตรัสว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมี “บุคลิกที่ไม่ธรรมดา... ซึ่งตลอดรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงแสดงศักดิ์ศรี ความกล้าหาญ และความอุทิศตนมาตลอด”

โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระลึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่าทรงมี “พระอารมณ์ขันอย่างงดงาม” และระบุในแถลงการณ์ว่า “ความมุ่งมั่นของพระองค์ในการผูกความปรองดองระหว่างเยอรมันและอังกฤษ หลังจากความน่าสะพรึงกลัวของสงครามโลกครั้งที่สองจะยังคงไม่ถูกลืมเลือน”

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ระลึกถึง “การพบปะอันน่าจดจำ” ของเขากับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักร 2 ครั้ง “ผมจะไม่มีวันลืมความอบอุ่นและความเมตตาของพระองค์” โมดีทวีตข้อความ “ในระหว่างการประชุม พระองค์ได้แสดงผ้าเช็ดหน้าของ มหาตมะ คานธี ที่มอบให้พระองค์ในงานอภิเษกสมรสของพระองค์แก่ผม ผมจะยกย่องจดจำพระจริยวัตรนั้นไว้เสมอ”

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย และมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงแสดงความเสียพระทัย โดยพระองค์ทรงอธิบายว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็น “แบบอย่างสำหรับความเป็นผู้นำที่จะเป็นอมตะไปตลอลกาลในประวัติศาสตร์”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 พรรษา ตลอดระยะเวลาการเป็นประมุขของพระองค์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนการอุทิศพระองค์อย่างมากมาย โดยโอบามากล่าวถึงพระราชินีนาถว่าทรงประทับ “ผ่านช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองและความซบเซา จากการลงจอดบนดวงจันทร์ สู่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน”

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกมากล่าวถึง “ความเศร้าโศกอันสุดซึ้ง” ต่อ “การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้นำอังกฤษผ่านพ้นช่วงเวลาที่วุ่นวายในโลก เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ไม่เพียงสำหรับชาวอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาคมระหว่างประเทศด้วย”

ไมเคิล ดี. ฮิกกินส์ ประธานาธิบดีไอร์แลนด์ ยกย่องสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถึง “สำนึกในพระราชกรณียกิจอันไม่ธรรมดา” ก่อนกล่าวว่าพระองค์จะทรงเป็น “เอกลักษณ์แห่งห้วงประวัติศาสตร์อังกฤษ” ฮิกกินส์ กล่าวว่า “การครองราชย์ 70 พรรษาของพระองค์ครอบคลุมช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในช่วงเวลานั้น พระองค์เป็นตัวแทนของความมั่นใจที่น่าทึ่งแก่ชาวอังกฤษ”

ไมเคิล มาติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ เรียกตลอดเวลาการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่าเป็น “ห้วงเวลาในทางประวัติศาสตร์” และเรียกว่าการสวรรคตของพระองค์เป็น “จุดจบแห่งยุคสมัย” ไมเคิลระบุอีกว่า “ความทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ และการบริการสาธารณะของพระองค์นั้นชัดเจนในตัวเอง  และภูมิปัญญาและประสบการณ์ของพระองค์ที่ไม่เหมือนใครอย่างแท้จริง” มาร์ตินกล่าวในแถลงการณ์ นอกจากนี้ เขายังระลึกถึง “ท่าทางอันสง่างามและคำพูดที่อบอุ่นมากมาย” ของพระองค์ในระหว่างการเยือนไอร์แลนด์เมื่อปี 2554

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็น “ภาพตัวที่มั่นใจ ตลอดหลายทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงที่กว้างใหญ่ ซึ่งรวมถึงการแยกจากอาณานิคมดินแดนในแอฟริกาและเอเชีย และวิวัฒนาการของเครือจักรภพ” ในแถลงการณ์กูเตอร์เรสยังได้แสดงความเคารพต่อ “การอุทิศตนตลอดชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชนของพระองค์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง โลกจะจดจำความอุทิศพระองค์ และความเป็นผู้นำของพระองค์ไปอีกนาน”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงเป็นประมุขแห่งเครือจักรภพ และเสด็จเยือนรัฐในเครือกว่า 16 ครั้ง โดย แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่า หลายคนไม่เคยรู้จักช่วงเวลาที่ไม่เคยมีพระองค์มาก่อน นับตั้งแต่พวกเขาเกิดมา “ถึงแม้เสียงอึกทึกครึกโครมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่พระองค์ก็เป็นตัวเป็นตนและแสดงความเหมาะสมเหนือกาลเวลาและความสงบที่ยั่งยืน” อัลบานีสกล่าวในแถลงการณ์ “พระองค์เฉลิมฉลองช่วงเวลาดีๆ ของเรา พระองค์ทรงยืนอยู่กับเราในยามที่ย่ำแย่ มีความสุข รุ่งโรจน์ แต่ก็มั่นคงเช่นกัน” 

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า เธอตื่นจากข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจส่องไฟเข้ามาในห้องนอนของเธอเมื่อเวลา 04:50 น. เพื่อปลุกเธอ โดยอาร์เดิร์นกล่าวว่า “พระองค์ไม่ใช่คนธรรมดา... วาระสุดท้ายของชีวิตพระราชินีนาถได้บันทึกว่าพระองค์เป็นใครในหลายๆ ด้าน ทรงงานจนถึงที่สุดเพื่อคนที่เธอรัก”

ในอีกทวีปหนึ่ง ไอแซค เฮอร์ซอก ประธานาธิบดีอิสราเอล ออกมากล่าวว่า โลกเกิดการเปลี่นแปลงไปอย่างมาก ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนที่จะกล่าวว่าแม้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น พระองค์ “ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง การเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ และสัญลักษณ์ของศีลธรรม มนุษยธรรม และการรักชาติ” ก่อนที่เฮอร์ซอกจะกล่าวเสริมว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ พระองค์ดำเนินพระชนม์ตามประวัติศาสตร์ สร้างประวัติศาสตร์ และด้วยการจากไปของพระองค์ พระองค์ได้ทิ้งมรดกที่งดงามและเป็นแรงบันดาลใจไว้”

สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ตรัสว่า ประเทศของพระองค์ “อาลัยกับการจากไปของผู้นำอันเป็นสัญลักษณ์” ก่อนที่จะตรัสว่า การเยือนจอร์แดนของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2527 เป็น “สัญลักษณ์ของปัญญาและผู้นำที่มีระเบียบแบบแผน… สหายของจอร์แดน และมิตรรักของครอบครัว”

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบะที่ 2 ในหลายโอกาสได้ส่ง “ความเสียใจอย่างสุดซึ้ง” ต่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก่อนระบุว่า “เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ในช่วงไม่ไกลมานี้ของสหราชอาณาจักร มีความเชื่อมโยงกับพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถอย่างแยกไม่ออก” ปูตินกล่าวเสริมอีกว่า “เป็นเวลาหลายสิบปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับความรักและความเคารพจากไพร่ฟ้าอย่างสมควร ตลอดจนอำนาจบนเวทีโลก”

ในอีกด้านหนึ่ง โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่าตนรู้สึก “เสียใจอย่างสุดซึ้ง” ที่ได้ทราบข่าว “ความสูญเสียอันไม่สามารถได้รับการฟื้นคืนมาได้นี้”

วิลเลียม รูโต ประธานาธิบดีรับเลือกเคนยา ยกย่อง “มรดกทางประวัติศาสตร์” ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และชาวเคนยาได้ถูก “พรากความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อพระองค์” ทั้งนี้ เคนยาเป็นประเทศที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยเสด็จเมื่อปี 2495 เมื่อครั้นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต จนเจ้าหญิงในวัย 25 ปี ณ ตอนนั้น ได้กลายมาเป็นพระราชินีพระองค์ใหม่ อย่างไรก็ดี เคนยาประกาศเอกราชต่อสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2516


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-62838595?fbclid=IwAR3isRdpVVWe786cQSzYCt50NhYXtkmyYeZcmGWm3Qyl5mVES8tA3VyEzUA