ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภาไม่เอาด้วยกับฝ่ายค้านที่ชงให้พระออกเสียงประชามติได้ โดยยึดตาม กมธ.เสียงข้างมากผ่านมาตราห้ามพระออกเสียงประชามติ ด้าน ส.ว.ชี้หากพระขาดจากความเป็นกลาง คือหายนะ

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระ 2

ในเวลา 14.00 น.  มีการพิจารณาถึง มาตรา 16 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้ผู้จัดวิทยุและโทรทัศน์ จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม และมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติ 429 ต่อ 0 เห็นชอบมาตราดังกล่าว ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก

ต่อมามีการพิจารณามาตรา 16/1 กำหนดว่า ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆในสังคม มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการออกเสียงประชามติได้

ในกรณีเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลในการออกเสียงประชามติที่กระทำโดยหน่วยงานของรัฐ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมได้เข้าร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียม

ประชุมสภา5.jpg


สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่า มาตรา 16/1 เป็นการยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็น โดยขยายเนื้อหาให้การแสดงออกครอบคลุมถึงพรรคการเมือง องค์กร กลุ่มต่างๆในสังคม ให้มีสิทธิในการจัดกิจกรรมได้ นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐ ยังมีอำนาจในการจัดกิจกรรม โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าให้ข้อมูลอย่างเท่าเทียม

สุรชัย กล่าวว่า เราไม่อยากเห็นการแสดงความเห็นในการทำประชามติ นำไปสู่ความขัดแย้ง และต้องการเห็นการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น การแสดงความเห็นต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติ 432 ต่อ 0 เห็นด้วยกับมาตรา 16/1

กระทั่งมาถึงมาตรามาตรา 20 ว่าด้วยเรื่องการห้ามบุคคล ในการออกเสียงประชามติ

โดย นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธินักบวชในการออกเสียงประชามติ ถือเป็นเรื่องไม่สมควร การลงประชามติถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญจะมีการห้ามพระใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ห้ามออกเสียงประชามติ ดังนั้น การห้ามเช่นนี้ จึงเปรียบสิทธิของนักบวช พระ ไม่แตกต่างอะไรกับคนบ้า สติฟั่นเฟือน

ยกตัวอย่าง เช่น พระไม่ได้แสดงความเห็นเลย แต่วันหนึ่งประชาชนลงประชามติทุบโบสถ์ พระก็ไม่รู้เรื่องด้วยเลย แล้วทีนี้ ทำไมพระถึงต้องไปเกณฑ์ทหาร แต่กลับไม่มีสิทธิออกเสียงประชามติ หากไม่ให้พระแสดงความเห็นบ้าง พระจะไม่มีสิทธิพูด แล้ววัดตามป่าที่มีเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ป่าจะทำอย่างไร

ประชุมสภา3.jpg

พล.อ.อ.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการ ชี้แจงว่า สมณะ นักบวช พระภิกษุในประเทศไทย เราเห็นตรงกันว่า ไม่ควรจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่พระไม่สามารถแยกตัวออกจากสังคมได้ ทั้งนี้ เมื่อไหร่ที่พระเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จะไม่มีความเป็นกลาง เพราะพระอยู่ได้ด้วยการบิณฑบาต เมื่อใดพระขาดจากความเป็นกลาง จะกลายเป็นหายนะ มีปัญหาอย่างแน่นอน

ทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะอดีตนักบวช เห็นว่าการห้ามพระภิกษุยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น เป็นบทบัญญัติที่ไม่เคยถามพระเลยสักครั้ง พระไตรปิฎกก็ไม่มีข้อห้ามพระยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทุกอย่างเป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่จะสามารถทำได้ และมีความจำเป็น เช่น ปัญหาที่ดินวัดสวนแก้ว พระสงฆ์เองก็ควรมีสิทธิเกี่ยวกับการทำประชามติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรา 20 ที่ประชุมลงมติ 338 ต่อ 105 เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ไม่ตัดข้อห้ามพระภิกษุ ในการออกเสียงประชามติออก

การประชุมดำเนินมาจนถึงเวลา 19.23 น. ในมาตรา 42/2 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนออกเสียงประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งไม่มีผู้สงวนคำแปรญัตติในมาตราดังกล่าว ทำให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากขณะนี้องค์ประชุมของรัฐสภาเหลือน้อยลง จึงขอปิดการประชุมไปก่อนแล้วมาประชุมกันใหม่ในวันที่ 8 เมษายน เวลา 09.30 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง