ไม่พบผลการค้นหา
"อนุทิน" เตรียมเรียก "มนัญญา" หารือเตรียมคืนกรมวิชาการเกษตรให้ "เฉลิมชัย " พร้อมระบุอาจทำหนังสือถึงนายกฯ พิจารณาแนบท้าย "ไม่สามารถควบคุมได้" แจงชัดเคารพมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เตรียมอัดงบรักษาพยาบาลต่อ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จากเดิม 1 ธันวาคม 2562 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ว่า เรื่องดังกล่าวต้องให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานวัตถุอันตรายเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมหากพูดไปอาจเกิดการผิดพลาดได้ ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานตนว่าเป็นเพียงการรับฟังในที่ประชุม แต่ไม่มีการลงมติแต่อย่างใด ซึ่งตนได้มีการซักถามกลับพบว่ามติเดิมก็มีการรับรอง และตนก็งงในประเด็นนี้ 

พร้อมย้ำว่า หลักการของกระทรวงสาธารณสุข คือเน้นเรื่องสุขภาพของประชาชน ต่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติออกมาอย่างไรก็พร้อมยอมรับ และขออย่านำเรื่องนี้ไปผูกกับเรื่องการเมือง เพราะเป็นคนละเรื่องกัน รัฐมนตรีไม่มีสิทธิ์ชี้นำหรือเปลี่ยนมติในที่ประชุม ซึ่งจากมติเดิมให้แบน 3 สารเคมี ในวันที่ 1 ธันวาคม และกรมวิชาการเกษตรจะต้องทำเรื่องมาให้ลงนาม แต่เมื่อวานการประชุมไม่มีการทำเรื่องมาให้และประธานกรรมการลงนาม

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเองก็ทำได้เพียงให้ความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนในการใช้สารเคมีเท่านั้น ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงการรักษาพยาบาลต่อไป งบประมาณต่างๆ ที่คิดว่าจะสามารถประหยัดได้ ก็ยังคงต้องเตรียมอยู่ต่อไป 

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีการทำหนังสือข้ามขั้นตอน ไม่ส่งให้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปรากฎลายเซ็นของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตนไม่ทราบในรายละเอียด แต่เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่ฟังคำสั่งของนางสาวมัญญา ซึ่งจะต้องมีการหารือภายในพรรค

ส่วนจะต้องคืนกรมให้กับนายเฉลิมชัย หรือไม่นั้น เมื่อควบคุมไม่ได้ก็ปวดหัว ซึ่งพยายามทำแต่เขากลับไม่ตอบสนองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ก็ไม่เป็นไร ข้าราชการการเมืองทะเลาะกับข้าราชการประจำไม่ใช่เรื่องที่ดี โดยอาจต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยใส่เหตุผลแนบท้ายว่าไม่สามารถควบคุมได้ "ควบคุมไม่ได้ จะเก็บไว้ทำไม"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง