ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ ชวนสำรวจท่าทีของพรรคการเมืองต่อประเด็นนิรโทษกรรม พวกเขามีจุดยืนอย่างไร มีแนวทางเช่นใด และคิดเห็นอย่างไรต่อเกณฑ์การพิจารณาผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม, รวมคดี 112 และคดีทุจริตหรือไม่

‘นิรโทษกรรม’ ถือเป็นนโยบายที่หลายคนจับตามองนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 66 ที่ผ่านมา เนื่องจากหลายพรรคการเมืองที่ตบเท้าเข้าสภาต่างก็เคยประกาศจุดยืนไว้บ้างตามเวทีดีเบตและการให้สัมภาษณ์สื่อ จนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 7 เดือน ในการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีพรรคก้าวไกลทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านเต็มตัว วาระสำคัญที่กำลังเป็นประเด็นร้อนฉ่า คือการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับก้าวไกลเข้าสภาฯ โดยให้นิรโทษกรรมย้อนหลังตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรเมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบัน 

วอยซ์ ชวนสำรวจท่าทีของพรรคการเมืองต่อประเด็นนิรโทษกรรม พวกเขามีจุดยืนอย่างไร มีแนวทางเช่นใด และคิดเห็นอย่างไรต่อเกณฑ์การพิจารณาผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ที่อาจรวมทั้งผู้ต้องคดี 112 

นิรโทษกรรม


เพื่อไทย 

ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวเมื่อ 12 ธ.ค. 2566 ว่า โดยหลักคิดของการนิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยในหลักการในการทำให้บ้านเมืองสงบสุขด้วยความปรองดอง โดยแนวทางของพรรคเพื่อไทยคือ ตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องของการเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าสมควรที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในเร็ววันนี้  รวมถึงสาระสำคัญหากมีการเสนอต้องครอบคลุมในเรื่องใดบ้าง ร่างกฎหมายที่ออกมานั้นควรจะเป็นอย่างไร 

แนวทาง:  ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

จุดยืน: หาทางออกร่วมของทุกฝ่าย

ก้าวไกล 

5 ตุลาคม 2566 ก่อน ‘6ตุลา’ เพียงหนึ่งวัน พรรคก้าวไกลได้ยื่น 'ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ฉบับก้าวไกล' เข้าสภา โดยอ้างถึงความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อระชาธิปไตย เมื่อ 11 ก.พ. 2549 ลุกลามถึงการรัฐประหาร 2549 และรัฐประหารซ้ำอีกทีเมื่อปี 2557 สู่การชุมนุมทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ทำให้มีผู้คนถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่คดีเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงข้อกล่าวหาร้ายแรง เช่นคดีมาตรา 112 

สาระสำหรับของร่างกฎหมายนิโทษกรรมฉบับก้าวไกล กำหนดให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นความผิดทางกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ครอบคลุมแกนนำและแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มสำคัญ ตั้งแต่กลุ่ม พธม. (2549) กลุ่ม นปช. (2552-2553) กลุ่ม กปปส. (2556-2557) กลุ่มคระราษฎร (2553-2554) ฯลฯ 

ส่วนที่ไม่ครอบคลุม หรือไม่ได้เข้าเงื่อนไขการนิรโทษกรรม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 

  1. เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ
  2. การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท
  3. การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ, คดีแบ่งแยกการปกครอง

โดยกลไกลในการนิรโทษกรรม ก้าวไกลเสนอว่า ให้มี “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม” 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง โดยการเลือกกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ชุดนี้ ต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ

แนวทาง: ดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด 9 คน 

จุดยืน: ไม่รวมคดีฆ่าคนตาย และคดี ม. 113 (ล้มล้างการปกครอง)

รวมไทยสร้างชาติ 

วิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ว่า รทสช. จะเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯที่ใช้ชื่อ 'ร่าง พ.ร.บ.สร้างสรรค์สังคมสันติสุข' ด้วยเห็นว่า จำเป็นต้องสร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติ แต่เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศมันรุนแรงและขัดแย้งกันมาเกือบยี่สิบปี จึงควรต้องมีการยุติโทษให้กับคนที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อที่จะได้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสามัคคีเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

ส่วนหลักการสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ รทสช. คือให้มีการนิรโทษกรรมกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อรัฐ เป็นผู้เสียหาย ทางรัฐ ก็จะไม่เอาผิดนั้น เช่น การทำผิดพรบ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะฯ, ความผิดต่อทรัพย์สินฯ เช่น มีการรื้อรั้ว หรือตัดกุญแจ ขว้างแก๊สน้ำตา

แต่จะไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำผิดคดีทุจริต ทำผิดคดีมาตรา 112 และคดีความผิดต่อชีวิตฯ 

“คดี 112 จะไม่มีการนิรโทษเพราะ นอกจาก เป็นการกระทบต่อรัฐ และความมั่นคงแล้ว ยังกระทบต่อผู้ที่เป็นหลักของบ้านเมือง เป็นการทำผิดที่ไปกระทบสิทธิ แบบนี้ จะไม่เข้าข่าย ไม่นิรโทษกรรม รวมถึงคดีทุจริตคอรัปชั่น และคดีความผิดต่อชีวิต ก็คือคดีที่เกิดขึ้นแล้ว มีผู้เสียหาย แล้วเอาคืนให้เขาไม่ได้ ก็ไม่เข้าข่าย” วิทยา แก้วภราดัย กล่าว 

แนวทาง: เตรียมยื่น พ.ร.บ.สร้างสรรค์สังคมสันติสุขฯ เข้าสภา

จุดยืน: ไม่รวมคดี 112, คดีทุจริตคอร์รัปชัน, คดีฆ่าคนตาย 

ชาติไทยพัฒนา 

วราวุธ ศิลปอาชา รมว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 ใจความว่า พรรคไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาได้ เนื่องจากมี สส. เพียง 10 ที่นั่ง ไม่เข้าเงื่อนไขในการเสนอกฎหมาย และอาจหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป 

ในส่วนของมุมมองต่อกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น โดยหลักการบางส่วนของการนิรโทษกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป  พรรคเห็นด้วย แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดี 112, ความผิดทางอาญาร้ายแรง และคดีทุจริต พรรคคิดว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 

ด้าน นิกร จำนง ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2566 ว่า ควรเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันในความเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างแท้จริง รวมทั้งเสนออีกแนวทางคือ การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคี โดยมีหลักการว่าผู้กระทำความผิดโดยมีความเชื่อทางการเมือง ซึ่งจะใช้กฎหมายปกติไม่ได้ จึงอาจจะต้องออกกฎหมายมาเป็นพิเศษ ซึ่งในข้อเสนอดังกล่าวเห็นว่าจะต้องเว้นเรื่องที่อ่อนไหว ได้แก่ ความผิดมาตรา 112 และความผิดกฎหมายอาญาที่รุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา เช่น ความผิดถึงแก่ชีวิต

แนวทาง: เสนอให้มีร่างนิรโทษกรรมในนามพรรคร่วมรัฐบาล 

จุดยืน: ไม่รวมคดี 112, คดีทุจริตคอร์รัปชัน, คดีฆ่าคนตาย

ภูมิใจไทย 

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 13 ธ.ค. 2566 ว่า  พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนของพรรคอยู่แล้วว่า มาตรา 112 แตะไม่ได้

แนวทาง: -

จุดยืน: ไม่รวมคดี 112 

ประชาธิปัตย์

ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล  เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2566 ว่า ในส่วนหลักการของพรรค ได้ย้ำจุดยืนหลายครั้ง หากเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายมีผลกระทบต่อคดีความผิดมาตรา 112 ด้วย พรรคไม่เห็นด้วย รวมถึงคดีทุจริต เพราะคดีเหล่านี้หากมีการนิรโทษกรรมย่อมมีผลกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย 

แนวทาง: -

จุดยืน: ไม่รวมคดี 112 ไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชัน

ครูไทยเพื่อประชาชน

ปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน กล่าวเมื่อ 20 ธ.ค. ว่า ได้ยื่น ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว (เนื้อหาเดียวกันกับร่างของหมอระวี มาศฉมาดล) เพื่อให้บรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่วาระการประชุมสภาต่อไป 

โดยสาระสำคัญคือ การนิรโทษกรรมความผิดในคดีที่มีมูลเหตุแรงจูงใจในการกระทำผิดจากความเห็นต่างทางการเมืองทั้งหมด ยกเว้นความผิด 3 ประเภท ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขได้รับนิรโทษกรรม คือ 

  1. ความผิดมาตรา 112  
  2. คดีทุจริต 
  3. คดีอาญาร้ายแรง

โดยให้มีผลย้อนหลังถึงความผิดในอดีตที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองทุกคดี ไม่จำกัดช่วงเวลาจนถึงวันที่ยื่นร่างกฎหมายคือวันที่ 20 ธ.ค. 2566 

แนวทาง: ดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชื่อร่าง ‘พ.ร.บ.สมานฉันท์ฯ’ 

จุดยืน: ไม่รวมคดี 112, คดีฆ่าคนตาย 

สว. (สมชาย แสวงการ)

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวเมื่อ 30 พ.ย. 2566 ยืนยันว่า ยึดมั่นหลักการสนับสนุนปรองดองนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่จุดยืนของตนคือ คัดค้านการนิรโทษกรรม 3 คดีมั่นคงสำคัญ คือ การทุจริตชาติ, คดีอาญาร้ายแรง เช่น คดีฆ่ากันตายแล้วอ้างเหตุทางการเมือง และคดีความผิด ม.112 

และโดยเฉพาะคดี 112 นั้น สมชายเห็นว่า หากสำนึกว่ากระทำผิดก็สามารถทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลได้ เช่นเดียวกับแกนนำหลายคนที่เป็นนักวิชาการในอดีตก็เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว

โดยสมชาย ย้ำว่า ตนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของพรรคก้าวไกล ที่มีรากมาจากความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า ต่างกรรมต่างวาระในการสนับสนุนให้มวลชน สมาชิก สส. คณะกรรมการบริหาร รวมถึงผู้นำทางความคิดหลายคน ที่ไปจาบจ้วงละเมิดจนผิดกฎหมาย และเชื่อว่า หากเสนอมา สว. ก็คงไม่ให้ความเห็นชอบ  ส่วนคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อส้ม ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นเรื่องทางการเมืองก็ให้นิรโทษกรรมได้ และเห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้เลย ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไข 3 เรื่องดังกล่าวก็พร้อมที่จะสนับสนุน

แนวทาง: -

จุดยืน: ไม่รวมคดี 112, คดีทุจริตคอร์รัปชัน, คดีฆ่าคนตาย 






อ้างอิง