นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงการแก้ไขปัญหาการประมง ว่า การบริหารจัดการประมงไทย เป็นความรับผิดชอบของรัฐ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต สภาวะการประมงไทยในอดีตที่ผ่านมากว่า 30 ปี ประสบปัญหาและมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของชาวประมงในหลายด้าน แต่ปัญหาหลักที่มีการหยิบยกในทุกเวทีเรียกร้องถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง คือ ปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปริมาณสัตว์น้ำที่น้อยลง สัตว์น้ำหลายชนิดหายไป เรือประมงมีจำนวนมาก
ซึ่งปัญหาเหล่านี้เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากได้มีการดัดแปลงเครื่องมือประมง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น หรือนำเครื่องมือประมงชนิดใหม่ๆ เข้ามาใช้ทำการประมง เช่น ลอบพับได้ ลอบหมึกสาย ทำให้มีประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรและแหล่งทำการประมงของชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงแตกต่างกัน
สาเหตุหลักของปัญหาที่มีการยอมรับโดยทั่วไปคือการทำการประมงมากเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ หรือภาวะ Overfishing ในน่านน้ำไทย จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่าอ่าวไทยมีการทำการประมงเกินกำลังผลิตของธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์น้ำหน้าดิน ซึ่งมีการใช้เกินไปถึงร้อยละ 32 กล่าวคือ หากต้องการให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับขึ้นมาจากธรรมชาติสามารถผลิตทดแทนได้แล้ว ในอ่าวไทยต้องลดกำลังการลงแรงประมงถึงหนึ่งในสามของที่ทำการประมงอยู่เดิม
การบริหารจัดการทรัพยากรประมงที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือ การลงแรงประมงที่แท้จริงนั้นคือ ประเทศไทยต้องมีข้อมูลจำนวนและขนาดของเรือประมง เนื่องจากเรือที่มีขนาดใหญ่จะมีความสามารถในจับสัตว์น้ำมากกว่าเรือที่มีขนาดเล็กกว่าในเครื่องมือประมงประเภทเดียวกัน
จากปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเสื่อมโทรม ขาดการบริหารจัดการประมงที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เรือประมงบางส่วนออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำและปัญหาการขาดการควบคุม กำกับ เรือประมงไทยนอกน่านน้ำให้มีทำการประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายสากล หรือข้อกำหนดของรัฐชายฝั่ง หรือองค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMO) ในฐานะรัฐเจ้าของธง หรือคนไทย ที่มีการนำเสนอในสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงปี 2555 - 2558 ทำให้มีผลกระทบอย่างมากต่อ ภาพลักษณ์ของการประมงไทยและความเชื่อมั่นของประเทศไทย ในการดำเนินการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาด้านการประมงของประเทศไทยคือ จำนวนเรือประมงที่แท้จริง จากพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 กำหนดให้การถอนทะเบียนเรือเป็นหน้าที่ของเจ้าของเรือ โดยไม่ได้ให้อำนาจกับกรมเจ้าท่าในฐานะนายทะเบียนทำการเพิกถอนทะเบียน แม้ว่าเรือลำดังกล่าวจะขาดการต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือมากกว่า 30 - 40 ปี หรือมีเรือประมงบางส่วนไม่ได้จดทะเบียนเรือ
โดยเห็นได้จากในช่วงปี พ.ศ. 2558 ได้มีการสำรวจเรือประมงในน่านน้ำไทย พบว่ามีเรือประมงจำนวนทั้งสิ้น 45,805 ลำ (ร้อยละ 78 เป็นเรือประมงพื้นบ้าน) โดย 4,499 ลำ เป็นเรือประมงที่ไม่ได้จดทะเบียนเรือ และนอกจากนี้พบว่ามีเรือประมงที่มีการจดทะเบียนเรือประมาณ 8,024 ลำ ไม่มาแสดงตน
ต่อมาภายใต้คำสั่ง คสช. ได้ทำการเพิกถอนทะเบียน ซึ่งจากตรวจสอบพบว่าเรือ กลุ่มดังกล่าวบางส่วนมีการขาย/จม หรือไม่สามารถติดต่อเจ้าของได้ โดยไม่ได้มีการมาเพิกถอนทะเบียนกับกรมเจ้าท่า และเพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของเรือประมง รัฐบาลได้มีการดำเนินการออกคำสั่ง คสช. ที่ 53 /2559 เพื่อให้กรมเจ้าท่าสามารถ งดการจดทะเบียนเรือไว้เป็นการชั่วคราว และออกคำสั่ง คสช.ที่ 22/2560 เพื่อให้มีการตรวจวัดและจัดทำอัตลักษณ์เรือประมงที่มีการขนาดมากกว่า 10 ตันกรอส เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเรือประมงที่ถูกต้อง
จากปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลายาวนานการที่สามารถ Clean up เรือประมงภายในระยะเวลาอันสั้น (3 ปีที่ผ่าน) นั้น เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง สมาคมประมง ตลอดจนผู้ประกอบการเจ้าของเรือประมง การดำเนินการดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของธง เนื่องจากการจดทะเบียนเรือหรือการให้สัญชาติเรือกับเรือลำใด รัฐจะกำหนดเงื่อนไขในการให้สัญชาติของตนแก่เรือ ในการจดทะเบียนเรือในอาณาเขตของตนและในการใช้สิทธิชักธงของตน เรือย่อมมีสัญชาติของรัฐเจ้าของธง ซึ่งเรือนั้นมีสิทธิชักจะต้องมีความเกี่ยวโยงอย่างแท้จริงระหว่างรัฐกับเรือนั้น
นอกจากนี้จากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่กำหนด แนวทางในการออกใบอนุญาตทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้จุดอ้างอิงเป็นฐานในการพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามหลักการความรับผิดชอบในฐานะรัฐชายฝั่ง ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนเป็นบทบัญญัติภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2554 และมีผลผูกพันที่ประเทศไทยต้องปฎิบัติตาม ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2554
กรมประมงได้นำข้อมูลเรือที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และแนวทางในการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ มาใช้ในการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ใน 2 รอบปีการประมงที่ผ่านมา เพื่อให้การลงแรงประมงอยู่ภายใต้ปริมาณผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน
แต่อย่างไรก็ตามจากสภาวะทรัพยากรประมงที่ยังอยู่ในสภาวะ Overfishing ซึ่งต้องมีการลดการลงแรงประมงลงอีก กรมประมงพิจารณาออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ให้กับชาวประมงทุกคน ที่มาขอรับใบอนุญาตและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยใช้การบริหารจัดการวันทำการประมง เพื่อให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จะจัดสรรในการทำประมงเพียงพอสำหรับทุกคน
ปัจจุบันประเทศไทยมั่นใจได้ว่ามีเรือประมงพาณิชย์ที่มีการทะเบียนเรือและมีใบอนุญาตประมงพาณิชย์จำนวนทั้งสิ้น 10,566 ลำ และมีเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตัน ที่มีการจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าทั้งสิ้น 27,925 ลำ จากกระแสข่าวการให้ข้อมูลจำนวนเรือประมงที่ทำการประมงเดิมมีมากถึง 80,000 ลำ เป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของประเทศไทยในฐานะของรัฐเจ้าของธงและรัฐชายฝั่ง ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในช่วงที่ผ่านมา
เนื่องจากรัฐไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนเรือที่มีอยู่จริงว่า ยังคงมีตัวเรือจริงเท่าไหร่ เรือที่ถูกต้องตามกฎหมายกี่ลำ ทำการประมงอยู่ที่ไหน ลุกล้ำน่านน้ำรัฐอื่นหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วการขาดการควบคุมเรือประมงไทยที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจำเลย ในสายตาของต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Ghoht Ship ที่สื่อต่างประเทศกล่าวถึงเรือประมงไทย อันเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่การเจรจาต่อรองกับต่างประเทศ เนื่องจากใบเหลือง เป็นเพียงการเตือนให้ประเทศไทยรู้ว่ามีปัญหาอะไร
การที่จะแก้ไขปัญหาหรือไม่เป็นความรับผิดชอบของรัฐ ความพยายามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ที่จะแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลายาวนาน โดยมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของการประมงไทยในอนาคตที่วางไว้ไกลเกินกว่าระยะเวลาของรัฐบาลหรือผลประโยชน์เบื้องหน้าระยะสั้น
สำหรับนโยบายจะก้าวเดินไปข้างหน้าคงเป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบที่ทุกคนจะมีต่ออนาคตของประเทศไทย เพราะทรัพยากรประมงเป็นของประชาชนคนไทยทุกคนและในประเด็นการส่งออกสินค้าประมงของไทยที่หลายฝ่ายกังวล พบว่าในรอบปี 2558 - 2560 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าประมงของไทยยังคงมีปริมาณ 1.5 - 1.6 ล้านตัน/ปี และมีมูลค่าสินค้าสูงถึง 220,000 ล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าปลาทูน่าและกุ้ง แต่หากในอนาคตประเทศไทยไม่มีการบริหารจัดการประมงและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในขณะที่กติกาของโลกเปลี่ยนไป มุมมองของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ปริมาณการส่งออกของไทยคงลดลงอย่างที่กังวล เนื่องจากผู้นำเข้าต่างประเทศไม่ซื้อ เพราะไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของบริษัท