ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำศาสนาจังหวัดชายแดนใต้ เสนอทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาความเชื่อเรื่องวัคซีนพร้อมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครองหลังโรคหัดส่งผลให้เด็กเสียชีวิตแล้ว 28 ราย

ที่ห้องประชุมปัญจเพชรศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนคณะทำงานด้านความคิดความเชื่อโดยมีผู้นำศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลาเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนไม่ฮาลาลของประชาชนในพื้นที่

ภายหลัง ศอ.บต. ได้แต่ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ซึ่งมีองค์ประกอบ 7 คณะ และมีพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานประกอบด้วยคณะกรรมการฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่เฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด พร้อมประสานวางแผนติดตามสถานการณ์โรคหัดในพื้นที่ คณะทำงานฝ่ายเลขานุการฯ ทำหน้าที่เฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูล คณะทำงานด้านการพยาบาล ทำหน้าที่เตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อม คณะทำงานด้านความคิดความเชื่อ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการฉีดวัคซีน

คณะทำงานด้านการศึกษา ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครองของนักเรียน คณะทำงานด้านท้องถิ่นและชุมชนทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้นำนักเรียนอายุตั้งแต่ 9-12 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล และคณะทำงานด้านการสร้างความเข้าใจมีหน้าที่สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้ข้อมูลผ่านสื่อบุคคลวิทยุโทรทัศน์และอื่นๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

นายประเวศ กล่าวว่า เด็กเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคตแต่ขณะนี้มียอดเด็กเสียชีวิตด้วยโรคหัดในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันจำนวน 28 คน ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถควบคุมและดูแลได้ เนื่องจากผู้ปกครองบางส่วนในพื้นที่ยังมีความเชื่อว่าวัคซีนไม่ฮาลาล ไม่สามารถฉีดได้ อีกทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดจะสามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป แต่ปัญหาที่พบขณะนี้จำนวนเด็กที่เสียชีวิตมีอายุต่ำกว่า 9 ปี โดยมีสาเหตุมาจากผู้ปกครองไม่ยอมฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสะสมส่งต่อให้ลูก เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันตั้งแต่ต้นทาง อีกทั้งเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มีภาวะขาดสารอาหาร และมีอาการปอดบวม อาเจียน และอาการแทรกซ้อนอื่นๆ

ทั้งนี้ ผู้นำศาสนาที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อ 3 ประการคือ การฉีดวัคซีนทำให้บุตรเจ็บไข้ไม่สบาย การฉีดวัคซีนเป็นการฉีดนายิส(สิ่งสกปรก) และเชื่อว่าเป็นการนำสิ่งที่ก่อให้เกิดผลที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกาย จากผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างความเข้าใจ โดยให้แพทย์อธิบายเรื่องอาการป่วยไข้ภายหลังได้รับวัคซีน ให้ผู้นำศาสนาร่วมประชุมเพื่อหามติเรื่องนี้พร้อมอธิบายหลักการเกี่ยวกับศาสนาให้ประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้ร่วมกับสาธารณสุขตำบล

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องความเชื่อที่มาจากข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ตามสื่อโซเชียลก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านการฉีดวัคซีนนั้น ให้ภาครัฐดำเนินการเรียกผู้เผยแพร่มาพูดคุยสร้างความเข้าใจโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ผู้นำศาสนายังเสนอให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นคนสำคัญในการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจเนื่องจาก อสม. เป็นลูกหลานของคนในพื้นที่จึงเป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือนได้ง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง