ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ออนไลน์' สำรวจเม็ดเงินที่ 250 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ใช้ตลอด 1 ปีพบว่ามีค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน สิทธิแต่งตั้งทีมงานโดยใช้งบประมาณกว่า 373 ล้านบาท ยังไม่นับรวมเบี้ยเลี้ยงจากการเป็น กมธ.ขณะที่ผลงานสำคัญขานชื่อเลือก 'ประยุทธ์' สืบทอดอำนาจ คสช.

14 พ.ค. 2563 นับเป็นวันครบรอบ 1 ปี 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการรัฐประหาร นอกจากคณะกรรมการสรรหาเลือกตัวเองดำรงตำแหน่ง ส.ว. และพร้อมใจยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารกลับมาเป็นนายกฯ คำรบสองแล้ว ส.ว. 250 คน มีผลงานอะไรบ้าง 'วอยซ์ออนไลน์' รวบรวมไว้ดังนี้ 

เริ่มจากการใช้เวลาการประชุมทั้งสิ้น 199 ชั่วโมง ชั่วโมง 15 นาที ตั้งกระทู้ถาม 40 ครั้ง พิจารณาเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตามที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 3 ฉบับ พิจารณาอนุมัติพ.ร.ก. 2 ฉบับ

พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง 11 องค์กร พิจารณารายงานประจำปีหน่วยงาน/องค์กร 26 ฉบับ พิจารณาญัตติ 3 ญัตติ และพิจารณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 จำนวน 3 ฉบับ

ส่วนค่าใช้จ่ายโดยประมาณของ 250 ส.ว. ตามคู่มือสิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ 2562 ในส่วนของเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม มีดังนี้ ประธานวุฒิสภา 119,920 บาทต่อเดือน รองประธานวุฒิสภาสองคน 115,740 บาทต่อเดือน ส.ว. 247 คนละ 113,560 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ในการแต่งตั้งทีมงานของส.ว. 250 คน ดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ค่าตอบแทน 24,000 บาทต่อเดือน ผู้ชำนาญการสองคน รวมค่าตอบแทน 30,000 บาทต่อเดือน และผู้ช่วยดำเนินการห้าคน รวมค่าตอบแทน 75,000 บาทต่อเดือน รวมค่าใช้จ่ายรายเกี่ยวเนื่องกับ 250 ส.ว. จากการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อย คือ 373,058,640 บาท

เมื่อนำค่าใช้จ่ายโดยประมาณของ 250 ส.ว. ไปหารกับชั่วโมงการทำงานข้างต้น ภาษีของประชาชนที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ยึดโยงประชาชนจะตกชั่วโมงละ 1,872,314 บาท หรือนาทีละ 31,205 บาท

ปรีชา สมาชิกวุฒิสภา รัฐสภากิตติศักดิ์ สว สมาชิกวุฒิสภา สภา 726_21.jpg

ขณะเดียวกัน การทำงานในฐานะสภาสูง เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการทำหน้าที่ของรัฐบาลกลับพบเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยมีลักษณะเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล

ทั้งยังขัดขวางการตรวจสอบที่ผลักดันของฝ่ายค้าน เช่น ข้อเสนอการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อตรวจสอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท การไม่ให้ความร่วมมือฝ่ายค้านเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19

กลไกการตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) อันถือเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ ในการทำหน้าที่ตรวจสอบให้ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชน ยังไม่มีผลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่การแต่งตั้งคณะ กมธ. 27 คณะมากกว่า ส.ว.ชุดที่ผ่านมา

โดยการประชุมกมธ.จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุมครั้ง 1,500 บาท ซึ่ง ส.ว. 1 คนสามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 คณะ ทั้งยังแต่งตั้งคณะอนุกมธ.อีกจำนวนมาก ที่ได้ค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุมครั้งละ 800 บาทอีกจำนวนมาก

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระบุว่า กมธ.สามัญ จำนวน 27 คณะ มีส.ว.สังกัดจำนวนแตกต่างกันไป ระหว่าง 13-19 คน โดยมีการประชุมรวมกันโดยประมาณ 640 ครั้ง คิดเป็นเงิน 15,988,500 บาท และตั้งอนุกมธ.โดยประมาณ 121 คณะ

อภิรัชต์ สมาชิกรัฐสภา วุฒิสภา ประชุมสภา

ไม่เพียงเท่านี้ ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังค้นพบงบเลี้ยงดูปูเสื่อ 250 ส.ว. จิปาถะอีกจำนวนมาก เช่น ค่าอาหารเลี้ยงรับ ส.ว. 16,240,000 บาท ค่าพาหนะเดินทางส.ว. 10,300,000 บาท ค่าใช้จ่ายการจัดสัมนาของส.ว. 11,187,200 บาท ค่าอาหารรับรองกมธ.สามัญ-วิสามัญ 11,500,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการภายในประเทศ 18,400,000 บาท

รวมค่าใช้จ่ายให้กับสภาสูงที่ไม่ได้ยึดโยงประชาชน อย่างน้อย 456,674,340 บาท เมื่อรวมกับยอดกับการสรรหาส.ว. 50 คนจากกลุ่มอาชีพที่ กกต.เปิดเผยว่า ใช้งบประมาณ 463 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อแต่งตั้ง 250 ส.ว. ในปีแรกจะอยู่ที่ 919 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย

ส่วนยอดบริจาคช่วยเหลือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 12,360,220 บาท ของสภาลากตั้ง จึงไม่อาจเทียบได้กับรายจ่ายจากภาษีประชาชนเกือบ 1 พันล้านบาท สำหรับเลี้ยงดู 250 สมาชิกสภาลากตั้ง ที่ไม่ได้มีผลงานใดๆ ตอบสนองกลับมานอกจากมีผลงานชิ้นโบว์แดง คือ ร่วมขานชื่อไม่แตกแถวในการลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ค้านมติมหาชนที่เทเสียงส่วนใหญ่เลือกพรรคการเมืองอันดับ 1 ที่ควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง